บันทึกประจำรุ่น GNOME 2.20

1 เกริ่นนำ

GNOME 2.20 คือรุ่นล่าสุดของ GNOME ระบบเดสก์ท็อปยอดนิยมและหลากแพลตฟอร์ม จุดมุ่งหมายของ GNOME อยู่ที่ความง่ายของการใช้งาน ความเสถียร และการสนับสนุนภาษาทั่วโลกอย่างดีที่สุด รวมทั้งสิ่งอำนวยความสะดวกสำหรับผู้บกพร่องทางกายภาพ ด้วยรากฐานของซอฟต์แวร์เสรีและโอเพนซอร์ส GNOME ได้ตระเตรียมเครื่องมือทั่วไปที่ผู้ใช้คอมพิวเตอร์ต้องการจากระบบคอมพิวเตอร์สมัยใหม่ รวมทั้งเป็นแพลตฟอร์มที่ยืดหยุ่นและทรงพลังสำหรับนักพัฒนาซอฟต์แวร์

การปรับปรุงใน GNOME 2.20 มีทั้ง: การปรับปรุงการสนับสนุนภาษาที่เขียนจากขวามาซ้ายเพิ่มเติม; การค้นเดสก์ท็อปที่เชื่อมรวมในกล่องโต้ตอบเปิดแฟ้ม; ความสะดวกใหม่ ๆ ในโปรแกรมเมลและปฏิทิน Evolution; การท่องดูสมุดรูปที่ปรับปรุงใหม่; การปรับแต่งเดสก์ท็อปที่สะดวกขึ้น; การจัดการพลังงานที่มีประสิทธิภาพ และการติดตามแบตเตอรีแล็ปท็อปแบบแม่นยำอย่างไม่น่าเชื่อ นักพัฒนาจะได้รับความสะดวกในการพัฒนาโปรแกรมมากขึ้น ด้วยทูลคิต GTK+ รุ่นใหม่, เครื่องมือที่ปรับปรุงใหม่ และสุดยอดเว็บไซต์เอกสารแห่งใหม่

เดสก์ท็อป GNOME มีการออกรุ่นใหม่ทุก ๆ หกเดือน และนำความสามารถและการปรับปรุงใหม่ ๆ การแก้ข้อผิดพลาด และการแปลข้อความ สู่ผู้ใช้ในทุก ๆ รุ่น GNOME 2.20 ก็ออกตามกำหนดนี้ หากต้องการทราบข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับ GNOME และจุดเด่นที่ทำให้ GNOME แตกต่างจากระบบเดสก์ท็อปคอมพิวเตอร์อื่น ๆ (เช่น ความสะดวกใช้ สิ่งอำนวยความสะดวกสำหรับผู้บกพร่องทางกายภาพ การสนับสนุนนานาภาษา และการให้เสรีภาพ) กรุณาอ่านที่หน้า เกี่ยวกับ GNOME ในเว็บไซต์ของเรา

มาร่วมกับเราสิ จะได้รู้ว่าคุณสามารถสร้างความเปลี่ยนแปลงอะไรบ้าง

GNOME 2.20 รวมเอาการปรับปรุงทุกอย่างใน GNOME 2.18 และก่อนหน้านี้ไว้ทั้งหมด คุณสามารถอ่านความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นใน GNOME 2.18 ได้จาก บันทึกประจำรุ่น

บันทึกประจำรุ่นนี้มีฉบับแปลหลายภาษา: กรีก, เกาหลี, คาตะลาน, จีนดั้งเดิม, จีนประยุกต์, เซอร์เบีย, เซอร์เบีย (ละติน), ญี่ปุ่น, ดัตช์, เดนมาร์ก, ตุรกี, ไทย, บัลแกเรีย, ปัญจาบี, โปรตุเกส (บราซิล), โปแลนด์, ฝรั่งเศส, มาซิโดเนีย, ยูเครน, เยอรมัน, รัสเซีย, ลิทัวเนีย, เวลส์, เวียดนาม, สเปน, สวีเดน, อังกฤษ, อารบิก, อินโดนีเซีย, อิตาลี, เอสโตเนีย, แอลเบเนีย

2 มีอะไรใหม่สำหรับผู้ใช้

โครงการ GNOME ยังคงมุ่งเน้นที่ผู้ใช้และความสะดวกใช้ต่อไปใน GNOME 2.20 มีการปรับปรุงแก้ไขตามที่ผู้ใช้ร้องขอหลายร้อยรายการใน GNOME รุ่นนี้ ซึ่งไม่อาจกล่าวถึงได้ทั้งหมด เราขอสรุปความสามารถเด่น ๆ ที่ผู้ใช้จะสนใจใน GNOME รุ่นนี้

2.1 อีเมลและปฏิทิน

Evolution โปรแกรมรับ-ส่งอีเมลและลูกข่ายกรุปแวร์ของ GNOME มีความสามารถใหม่เพิ่มขึ้นหลายอย่าง

ความสามารถใหม่สำหรับแจ้งเตือนการแนบเอกสาร อาจหมายถึงการไม่ต้องส่งอีเมลในทำนอง "ขอโทษที ผม/ฉัน ลืมแนบแฟ้มที่ว่า" อีกต่อไป เพราะถ้าคุณพยายามส่งอีเมลที่มีคำว่า "attachment" (หรือคำที่คล้ายกัน) โดยไม่ได้แนบแฟ้มจริง คุณจะพบคำเตือนกันลืม [หมายเหตุ: ค่าปริยายจะตรวจหาคำภาษาอังกฤษ แต่คุณสามารถเพิ่มคำภาษาไทยเองได้ —ผู้แปล]

รูปที่ 1การเตือนการแนบเอกสารของ Evolution

Evolution รุ่นนี้จะแสดงไอคอนในพื้นที่แจ้งเหตุบนพาเนลเมื่อมีอีเมลใหม่มาถึงคุณ สังเกตว่า ความสามารถนี้มาในรูปปลั๊กอิน และยังไม่ได้ผนวกเข้าในหน้าต่างปรับแต่งหลัก คุณจึงต้องใช้วิธีปิดปลั๊กอินหากไม่ต้องการให้เตือน

รูปที่ 2ไอคอนแจ้งเตือนใหม่ของ Evolution

การย้ายค่าตั้งและกรุอีเมลของคุณไปยังคอมพิวเตอร์เครื่องใหม่กลายเป็นเรื่องง่าย เมื่อมีความสามารถเรื่องการสำรอง/ฟื้นคืนข้อมูล

รูปที่ 3ความสามารถในการสำรองข้อมูลของ Evolution

ความสามารถใหม่เรื่อง "แคร่เว้นวรรคมหัศจรรย์" อาจจะหาพบเองได้ยากสักนิด แต่มีประโยชน์มาก เพราะหมายความว่าคุณต้องการแค่ปุ่มเดียวเท่านั้นในการอ่านเมลใหม่ทั้งหมดในทุกโฟลเดอร์ โดยแค่เคาะแคร่เว้นวรรคเพื่อเลื่อนหน้าในช่องแสดงตัวอย่างเมลไปจนถึงท้ายเมล จากนั้นก็เคาะแคร่อีกเพื่อเปิดอีเมลถัดไปที่ยังไม่ได้อ่าน และเมื่อคุณอ่านอีเมลใหม่ทั้งหมดในโฟลเดอร์นั้นแล้ว ก็เคาะแคร่เดิมเพื่อแสดงอีเมลแรกที่ยังไม่ได้อ่านของโฟลเดอร์ถัดไป

ความสามารถด้านปฏิทินของ Evolution ก็ได้รับการปรับปรุงที่เป็นประโยชน์เช่นกัน คุณสามารถค้นปฏิทินโดยใช้ความสามารถขั้นสูงแบบเดียวกับที่เคยทำได้ในการค้นอีเมลและสมุดที่อยู่ และสามารถเก็บบันทึกการค้นหาไว้ใช้ใหม่ได้ในภายหลัง นอกจากนี้ รายการดึงลง "แสดง" ก็ยังสามารถแสดงนัดหมายใน 7 วันข้างหน้าและนัดหมายที่มีผลอยู่ได้อย่างรวดเร็ว

รูปที่ 4การแสดงนัดหมาย 7 วันของ Evolution

นอกจากนี้ โปรแกรมอ่านอีเมลตัวนี้ยัง:

  • ย้ายกระทู้เมลขึ้นไปบนสุดเมื่อมีอีเมลใหม่ในกระทู้ ในกรณีที่ใช้การแสดงแบบเรียงกระทู้
  • ใช้ระบบสั่งพิมพ์มาตรฐานของ GTK+ เหมือนกับโปรแกรมอื่น ๆ โดยให้ตัวเลือกสำหรับสั่งพิมพ์มากขึ้นกว่าเดิม
  • ให้คุณเลือกปลั๊กอินกรองขยะ (SpamAssassin หรือ BogoFilter) ได้ในหน้าต่างปรับแต่ง และ SpamAssassin จะเรียนรู้รูปแบบเมลขยะโดยอัตโนมัติ เมื่อคุณทำเครื่องหมายเมลว่าเป็นหรือไม่เป็นขยะ

ผู้ใช้ Microsoft Exchange จะยินดีกับการปรับปรุงเรื่องการรองรับ Exchange ของ Evolution เช่น:

  • การใช้ความสามารถเรื่องการมอบฉันทะของ Exchange ซึ่งทำให้เพื่อนร่วมงานของคุณสามารถดำเนินงานแทนคุณได้ เมื่อคุณไม่อยู่
  • ใช้งานได้เร็วขึ้นในโหมดออฟไลน์
  • โหลดโฟลเดอร์ได้เร็วขึ้น

2.2 เว็บเบราว์เซอร์

Epiphany เว็บเบราว์เซอร์ในชุดของ GNOME ก็มีการปรับปรุงในจุดเล็ก ๆ น้อย ๆ แต่มีความสำคัญมาก

ตัวอย่างเช่น การเติมข้อความในแถบที่อยู่จะใช้งานได้ถนัดขึ้น เมื่อคุณใช้ปุ่มลูกศรเลือกในรายการดึงลง รายการที่เลือกอยู่จะแสดงในช่องป้อนทันที ทำให้เห็นที่อยู่ที่จะใช้เมื่อกด enter ได้ง่ายขึ้น เมนูดึงลงนี้ จะแสดงที่อยู่ทั้งจากประวัติการท่องเว็บและจากที่คั่นหน้าของคุณ และในรุ่นนี้จะแสดงไอคอนของเว็บไซต์ (favicon) สำหรับรายการจากประวัติด้วย เหมือนกับที่ได้แสดงในรายการของที่คั่นหน้ามาแล้ว

รูปที่ 5เว็บเบราว์เซอร์ แสดงที่คั่นหน้าและประวัติการท่องเว็บในแถบที่อยู่ โดยมี favicon

ตามคำเรียกร้องของผู้ใช้จำนวนมาก รุ่นนี้มีตัวเลือก "การเลื่อนจอแบบลื่น" แล้ว ซึ่งทำให้เห็นจุดที่จะอ่านต่อได้ง่ายเมื่อเลื่อนหน้าเว็บที่ยาว ๆ แต่จะไม่เปิดตัวเลือกนี้โดยปริยาย เพราะมีรายงานจากผู้ใช้หลายคนว่าอาจทำให้ปวดตาได้

2.3 การดูรูป

eog โปรแกรมแสดงรูปของ GNOME รุ่นนี้จะทำงานเร็วขึ้นและเสถียรขึ้น กล่องโต้ตอบคุณสมบัติรูปภาพรุ่นใหม่จะช่วยให้ดูข้อมูลพื้นฐานและ metadata ของรูปได้โดยสะดวก และในรุ่นนี้ได้เพิ่มการรองรับข้อมูล XMP (Extensible Metadata Platform) ซึ่งกล้องถ่ายรูปหรือซอฟต์แวร์ที่คุณใช้อาจเก็บไว้ในรูป เพิ่มเติมจากข้อมูล EXIF ที่มีอยู่ ข้อมูลดังกล่าวอาจรวมถึงสถานที่ถ่ายภาพ ข้อมูลลิขสิทธิ์ สัญญาอนุญาตใช้งาน และป้ายกำกับ

และในรุ่นนี้ คุณสามารถเปิดรูปในโปรแกรมอื่นเช่น GIMP ได้ง่ายกว่าเดิม โดยใช้เมนู "เปิดด้วย..." และเมื่อคุณแก้ไขและบันทึกแฟ้มเสร็จ รูปภาพในโปรแกรมแสดงรูปก็จะเปลี่ยนตามโดยอัตโนมัติ รายการดังกล่าว มีอยู่ในเมนูคลิกขวาที่เพิ่มมาในช่องสมุดรูปที่ด้านล่างของหน้าต่างด้วย พร้อมคำสั่งอื่น ๆ ที่เป็นประโยชน์ ช่องสมุดรูปดังกล่าวในรุ่นนี้ มีปุ่มขนาดใหญ่ในแนวตั้งที่ด้านซ้ายและด้านขวา ทำให้ท่องดูรูปต่าง ๆ ของคุณได้ง่ายขึ้น

รูปที่ 6โปรแกรมแสดงรูป พร้อมกล่องโต้ตอบคุณสมบัติและเมนู "เปิดด้วย..."

2.4 โปรแกรมแสดงเอกสาร

Evince โปรแกรมแสดงเอกสารของ GNOME สำหรับแฟ้ม PDF และ Postscript รุ่นนี้สนับสนุนแบบฟอร์ม PDF แล้ว โดยช่วยให้คุณป้อนข้อมูลลงในแบบฟอร์ม PDF เพื่อบันทึกหรือพิมพ์ได้ นอกจากนี้ การแสดงผลก็ยังเร็วขึ้นอย่างรู้สึกได้ด้วย

รูปที่ 7โปรแกรมแสดงเอกสาร แสดงการกรอกแบบฟอร์ม

นอกจากนี้ คุณยังสามารถบันทึกรูปภาพจากเอกสาร PDF และพิมพ์เอกสาร PDF แบบหลายหน้าต่อแผ่นได้ด้วย

2.5 เสียงและวีดิทัศน์

ไม่ใช่ทุกดิสทริบิวชันที่จะติดตั้งตัวอ่านรหัสมัลติมีเดียมาให้ครบโดยปริยาย เนื่องจากต้องจ่ายค่าสิทธิบัตรสำหรับตัวอ่านรหัสบางตัวในบางประเทศ ซึ่งหมายความว่าโปรแกรมต่าง ๆ จะไม่สามารถอ่านแฟ้มได้ทุกรูปแบบโดยปริยาย แต่โปรแกรมอย่าง Totem ซึ่งเป็นโปรแกรมเล่นวีดิทัศน์ของ GNOME ในรุ่นนี้ สามารถหาตัวอ่านรหัสมาให้ผู้ใช้ติดตั้งได้ ความสามารถนี้ทำโดยดิสทริบิวชันของคุณ ซึ่งจะตัดสินใจเองว่าจะนำตัวอ่านรหัสมาด้วยวิธีใด ดังตัวอย่างบน Ubuntu:

รูปที่ 8โปรแกรมเล่นวีดิทัศน์ แสดงการเสนอดาวน์โหลดตัวอ่านรหัส

การสนับสนุนวีดิทัศน์ที่ฝังในหน้าเว็บของ Totem ก็ได้รับการปรับปรุงด้วย โดยสนับสนุนหน้าเว็บหลายแบบขึ้น กะพริบปุ่ม "เล่น" เมื่อคุณต้องกดเพื่อเล่นวีดิทัศน์ และสามารถเข้าสู่โหมดเต็มจอภาพจากในหน้าเว็บได้ด้วย

2.6 การจดบันทึก

Tomboy โปรแกรมจดบันทึกข้อความของ GNOME ก็ได้เพิ่มความสามารถใหม่ที่สำคัญ ๆ อย่างแรกก็คือการปรับข้อมูลบันทึกให้ตรงกัน โดย Tomboy รุ่นนี้สามารถใช้ WebDAV หรือ ssh ในการเชื่อมต่อไปยังเซิร์ฟเวอร์เพื่อปรับข้อมูลบันทึกทั้งหมดที่ผู้ใช้แก้ไขให้ตรงกันได้ ช่วยให้ผู้ใช้ที่ใช้คอมพิวเตอร์หลายเครื่องสามารถใช้บันทึกข้อความชุดเดียวที่ตรงกันหมดทุกเครื่องได้ การแก้ไขความขัดแย้งของเนื้อหาอย่างง่ายระหว่างเซิร์ฟเวอร์กับลูกข่าย Tomboy ทำให้รับประกันได้ว่าจะไม่มีข้อมูลสูญหายในกรณีที่ข้อมูลขัดแย้งกันเอง

รูปที่ 9Tomboy กับบันทึกข้อความที่ตรงกันระหว่างคอมพิวเตอร์สองเครื่อง

นอกจากนี้ Tomboy รุ่นนี้ยังจดจำบันทึกที่คุณเปิดไว้ และเปิดให้เหมือนเดิมเมื่อคุณเรียกใช้ครั้งต่อไป

2.7 การแก้ไขข้อความ

gedit เครื่องมือแก้ไขข้อความที่เรียบง่ายแต่ทรงประสิทธิภาพของ GNOME ได้ทำระบบการเน้นสีไวยากรณ์ใหม่หมด ซึ่งในรุ่นนี้จะสนับสนุนการเน้นไวยากรณ์สำหรับภาษาสคริปต์อย่าง PHP และ Ruby เมื่อฝังอยู่ใน HTML ได้ รวมทั้งการเน้นข้อความอย่าง "TODO" หรือ "FIXME" ภายในคอมเมนต์ของโค้ด และการเน้นเนื้อหาเอกสาร gtk-doc ภายในซอร์สโค้ดด้วย

คุณสามารถเลือกใช้ชุดสีต่าง ๆ ได้ด้วย ในกรณีที่คุณคุ้นเคยกับสีที่ใช้ในโปรแกรมอื่น

รูปที่ 10ชุดสีของเครื่องมือแก้ไขข้อความ

2.8 การจัดการแฟ้ม

กล่องโต้ตอบเลือกแฟ้มรุ่นนี้ จะแสดงแฟ้มที่ใช้ล่าสุด และสามารถใช้ระบบสืบค้นเดสก์ท็อปอย่าง Beagle หรือ Tracker ได้ด้วย ทำให้หาแฟ้มที่ต้องการได้สะดวกขึ้นโดยไม่สะดุด

รูปที่ 11ค้นหาแฟ้มในกล่องโต้ตอบเลือกแฟ้ม

โปรแกรมจัดการแฟ้ม Nautilus รุ่นนี้ แสดงข้อมูลมากขึ้นในหน้าต่าง "คุณสมบัติ" ของไดรว์ต่าง ๆ รวมทั้งมีแผนภูมิกงแสดงสัดส่วนเนื้อที่ว่างที่เหลือด้วย นอกจากนี้ คุณยังสามารถดูการใช้เนื้อที่ดิสก์โดยรวมได้ใน "เครื่องมือวิเคราะห์การใช้ดิสก์" ด้วย

รูปที่ 12กล่องโต้ตอบคุณสมบัติสำหรับฮาร์ดดิสก์

(ผู้ที่ช่างสังเกตอาจสังเกตเห็นบั๊กของข้อมูลชนิด ขนาด และชนิด mime ในภาพหน้าจอข้างต้น เราหวังว่าจะแก้บั๊กนี้ใน GNOME 2.22)

Nautilus รุ่นนี้จะใช้ข้อมูล EXIF ของกล้องในแฟ้มรูปเพื่อหมุนรูปย่อตามที่กำหนด ซึ่งหมายความว่า เมื่อคุณถ่ายรูปด้วยกล้องแล้วนำเข้าใน GNOME แนววางของรูปย่อก็จะถูกต้อง ไม่ว่าจะถ่ายไว้ในแนวนอนหรือแนวตั้ง

รูปที่ 13โปรแกรมจัดการแฟ้ม แสดงรูปย่อที่แนววางถูกต้อง

file-roller โปรแกรมจัดการแฟ้มจัดเก็บรุ่นนี้ สามารถเปิดและบันทึกแฟ้มจัดเก็บจากแหล่งในเครือข่าย เช่น เซิร์ฟเวอร์ที่ถูกเมานท์แบบ ssh:// ไว้ โดยใช้ระบบ gnome-vfs ที่ใช้กันในโปรแกรม GNOME อื่น ๆ นอกจากนี้ ยังสามารถลากวางแฟ้มไปมาระหว่างแฟ้มจัดเก็บได้ด้วย

2.9 พาเนล

พาเนลของ GNOME สามารถพบได้ที่ด้านบนและด้านล่างของหน้าจอของคุณในดิสทริบิวชันส่วนใหญ่ ใน GNOME 2.20 นี้ มีการปรับปรุงเล็ก ๆ น้อย ๆ แต่เป็นประโยชน์ ตัวอย่างเช่น แอพเพล็ตรายการหน้าต่างจะไม่เปลี่ยนขนาดปุ่มเมื่อความยาวของชื่อหน้าต่างเปลี่ยนแล้ว ซึ่งช่วยลดความรำคาญจากการเปลี่ยนขนาดไปมาเมื่อเปลี่ยนแท็บในเว็บเบราว์เซอร์ และรายการหน้าต่างแบบเมนูก็ยังแยกรายการในเมนูตามพื้นที่ทำงานด้วย

ผู้ใช้ที่ใช้ "พาเนลลอยตัว" (ซึ่งไม่ได้ขยายเต็มความกว้างของหน้าจอ) อาจสังเกตว่าพาเนลเหล่านั้นจะยังอยู่ในตำแหน่งและแนววางที่ถูกต้องเมื่อเปลี่ยนความละเอียดของหน้าจอ ยังมีแผนที่จะปรับปรุงการเปลี่ยนตำแหน่งของแอพเพล็ตในพาเนลเมื่อเปลี่ยนความละเอียดของหน้าจออีกใน GNOME 2.22

2.10 พาเนลควบคุม

ใน GNOME 2.20 มีการจัดพาเนลควบคุมใหม่เล็กน้อย เพื่อลดจำนวนพาเนลควบคุมลง ทำให้หาสิ่งที่ต้องการได้ง่ายขึ้น

ตัวอย่างเช่น รุ่นนี้เป็นรุ่นเปิดตัวพาเนลควบคุม "รูปโฉม" โดยรวมพาเนลควบคุม "ชุดตกแต่ง", "พื้นหลังพื้นโต๊ะ", "แบบอักษร" และ "เมนู & แถบเครื่องมือ" เข้าด้วยกันเป็นชุดเดียว ทำให้เมนูปรับแต่งพื้นโต๊ะสั้นลง

รูปที่ 14พาเนลควบคุม "รูปโฉม"

นอกจากนี้ การปรับแต่ง "สิ่งอำนวยความสะดวก" บางรายการ ก็ได้ย้ายไปรวมในแท็บใหม่ของพาเนลควบคุม "เลือกโปรแกรมหลักๆ"

รูปที่ 15แท็บ "สิ่งอำนวยความสะดวก" ในพาเนลควบคุม "เลือกโปรแกรมหลักๆ"

ผู้ใช้เครือข่ายไร้สายอาจยินดีกับการรองรับการเข้ารหัส WPA ในพาเนลควบคุม "เครือข่าย" ด้วย

2.11 การจัดการรหัสผ่าน

ระบบพวงกุญแจของ GNOME จะจำรหัสผ่านของคุณสำหรับการติดต่อกับเซิร์ฟเวอร์ในเครือข่ายและเว็บไซต์ต่าง ๆ ใน GNOME 2.20 นี้ พวงกุญแจจะถูกปลดล็อคโดยอัตโนมัติเมื่อคุณเข้าระบบและเมื่อคุณปลดล็อคหน้าจอ เพื่อลดการถามรหัสผ่านบ่อย ๆ อย่างไรก็ดี สังเกตว่าความสามารถนี้ต้องขึ้นอยู่กับการจัดการของดิสทริบิวชันที่คุณใช้ด้วย นอกจากนี้ คุณสามารถเปลี่ยนรหัสผ่านหลักสำหรับพวงกุญแจได้แล้วในรุ่นนี้ โดยผ่านพาเนลควบคุม "ปรับแต่งการเข้ารหัสลับ" ในแท็บ "พวงกุญแจ GNOME"

รูปที่ 16แท็บ "พวงกุญแจ" ในพาเนลควบคุม "ปรับแต่งการเข้ารหัสลับ"

โปรแกรม "รหัสผ่านและกุญแจเข้ารหัสลับ" รุ่นนี้จะแสดงรายละเอียดมากขึ้นในการแจ้งเหตุเมื่อคุณนำเข้ากุญแจ และให้คุณเลือกชนิดของแฟ้มจัดเก็บได้เมื่อเข้ารหัสลับแฟ้มหลายแฟ้มพร้อมกัน

รูปที่ 17การเข้ารหัสลับแฟ้มหลายแฟ้มพร้อมกัน

2.12 ระบบคู่มือวิธีใช้

GNOME รุ่นนี้มีการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างพื้นฐานขนานใหญ่ในโปรแกรมอ่านวิธีใช้ (yelp) ซึ่งทำให้รูปลักษณ์และการจัดเรียงเนื้อหาดีขึ้น นอกจากนี้ สีที่ใช้ยังเข้ากันกับชุดตกแต่งที่ใช้อยู่มากขึ้นด้วย

หน้าเอกสารต่าง ๆ ก็แสดงได้รวดเร็วขึ้น เนื่องจากแต่ละหน้าจะถูกโหลดเมื่อต้องใช้เท่านั้น แทนที่จะต้องอ่านและแจงเนื้อหาทั้งหมดของคู่มือโดยไม่จำเป็น

รูปที่ 18โปรแกรมอ่านวิธีใช้

2.13 การจัดการพลังงาน

เครื่องมือจัดการการใช้พลังงานของ GNOME รุ่นนี้จะเก็บบันทึกสถิติเกี่ยวกับแบตเตอรี่ของคุณ ณ เวลาต่าง ๆ ทำให้สามารถประเมินเวลาที่เหลืออยู่ของแบตเตอรี่ได้อย่างแม่นยำขึ้นมาก แม้กับแบตเตอรี่ที่เก่าและเสื่อมแล้ว และยังรู้กระทั่งรุ่นของแบตเตอรี่ที่ถูกเรียกคืนจากผู้ผลิตด้วย

รูปที่ 19เครื่องมือจัดการกาใช้พลังงาน ขณะเตือนแบตเตอรี่เสื่อมสภาพ

หลายส่วนของ GNOME เช่น เครื่องมือควบคุมระดับเสียง ก็ได้รับการแก้ไขให้ลดการ วนอ่านค่า ที่ไม่จำเป็นลง ทำให้ประหยัดพลังงาน

2.14 การเข้าระบบและโปรแกรมรักษาหน้าจอ

เดิมนั้น ผู้ใช้สามารถเลือกภาษาที่จะใช้ใน GNOME เมื่อเข้าระบบได้ แต่ในรุ่นนี้ ผู้ใช้สามารถเปลี่ยนภาษาของตัวหน้าจอเข้าระบบเองในทันทีที่เลือกได้ด้วย อันเนื่องมาจากการปรับปรุงใน GDM (GNOME Display Manager)

โปรแกรมรักษาหน้าจอของ GNOME รุ่นนี้ สามารถให้ผู้อื่นฝากข้อความไว้ขณะที่หน้าจอถูกล็อคอยู่ได้ โดยคลิกที่ปุ่ม "ฝากข้อความ" และคุณจะดูข้อความนี้ได้เมื่อเข้าระบบ

รูปที่ 20ข้อความที่ฝากไว้ให้คุณขณะที่โปรแกรมรักษาหน้าจอทำงาน

2.15 ภาษาที่เขียนจากขวามาซ้าย

บางภาษาเช่นอารบิกและฮีบรูจะเขียนจากขวามาซ้าย ผู้ใช้ภาษาเหล่านี้คาดหวังให้ส่วนติดต่อผู้ใช้ทั้งหลายกลับด้านกันเมื่อเทียบกับภาษาที่เขียนจากซ้ายไปขวาด้วย GNOME 2.20 ได้ปรับปรุงการรองรับเรื่องดังกล่าวในด้านต่าง ๆ เมื่อใช้ภาษาเหล่านี้ ดังต่อไปนี้:

  • ปุ่มต่าง ๆ บนหัวหน้าต่าง (เช่น ปุ่มย่อหาย, ขยายเต็ม, และปิดหน้าต่าง) จะจัดเรียงในลำดับสลับกัน
  • รายการในเมนูหน้าต่างจะจัดเรียงชิดขวา
  • กล่องสลับหน้าต่างที่เรียกด้วย alt-tab จะเรียงและเลือกหน้าต่างจากขวามาซ้าย
  • กล่องเลือกพื้นที่ทำงานที่เรียกด้วย ctrl-alt-ลูกศร จะเรียงและเลือกพื้นที่ทำงานจากขวามาซ้าย
รูปที่ 21การสลับหน้าต่างเมื่อใช้ภาษาอารบิก สังเกตการเรียงลำดับปุ่มจากขวามาซ้ายที่หัวหน้าต่าง

2.16 สิ่งอำนวยความสะดวกสำหรับผู้บกพร่องทางกายภาพ

การสนับสนุนสิ่งอำนวยความสะดวกของ GNOME สามารถปรับเปลี่ยนให้เข้ากับการใช้งานของผู้บกพร่องทางกายภาพลักษณะต่าง ๆ ได้ โปรแกรมอ่านจอภาพ Orca เป็นส่วนสำคัญของการสนับสนุนนี้ โดยอาศัยการสังเคราะห์เสียง อักษรเบรลล์ และแว่นขยาย ช่วยอำนวยความสะดวกแก่ผู้ใช้ที่บกพร่องทางสายตา

ข้อดีหลักของ Orca ก็คือการรองรับโปรแกรมต่าง ๆ แบบเจาะจงได้ ซึ่งหมายความว่า Orca เข้าใจรูปแบบเฉพาะของการโต้ตอบของผู้ใช้ในแต่ละโปรแกรม นอกเหนือจากข้อมูลทั่วไปที่โปรแกรมเตรียมให้ผ่านทูลคิต ATK (และระบบ AT-SPI) ด้วย ตัวอย่างเช่น ในรุ่นล่าสุดนี้ ได้เพิ่มการสนับสนุน OpenOffice, Firefox, Thunderbird, Pidgin (ชื่อเดิมคือ GAIM) และโปรแกรม Java อย่างมาก และยังจัดการกับแถบความคืบหน้า คำแนะนำเครื่องมือ และข้อความแจ้งเหตุเพิ่มขึ้นด้วย นอกจากนี้ ยังสามารถใช้คำอ่านเฉพาะท้องถิ่นของคำพิเศษต่าง ๆ ได้

3 มีอะไรใหม่สำหรับผู้ดูแลระบบ

GNOME ออกชุดเครื่องมือสำหรับผู้ดูแลระบบเพื่อช่วยในการใช้งานในบริษัทขนาดใหญ่ และในสถานการณ์ที่จำเป็นต้องจำกัดการใช้งานเครื่อง

3.1 เครื่องมือแก้ไขการจำกัดการใช้งานและโพรไฟล์ผู้ใช้

เครื่องมือแก้ไขโพรไฟล์ผู้ใช้ "Sabayon" ช่วยให้ผู้ดูแลระบบสามารถกำหนดโพรไฟล์ผู้ใช้ได้ในวาระโต้ตอบสด ๆ เมื่อมีการสร้างหรือแก้ไขโพรไฟล์ จะเปิดวาระ GNOME ซ้อนในหน้าต่าง ซึ่งผู้ดูแลระบบสามารถใช้เปลี่ยนคีย์ปกติและคีย์บังคับของ GConf ได้ภายในวาระ GNOME ของผู้ดูแลระบบเอง

ภายในหน้าต่างซ้อน ผู้ดูแลระบบสามารถสร้างโพรไฟล์เฉพาะรายบุคคล ตามประเภทของงาน (เช่น พนักงานต้อนรับ พนักงานป้อนข้อมูล โปรแกรมเมอร์ ผู้บริหารทรัพยากรบุคคล ฯลฯ) ได้ โพรไฟล์เหล่านี้ สามารถบันทึกและนำไปใช้งานในเครื่องเดสก์ท็อปหลายเครื่องได้โดยสะดวก และช่วยประหยัดเวลาผู้ดูแลระบบ นอกจากนี้ โพรไฟล์ต่าง ๆ ยังสามารถเปลี่ยนแปลงและปรับละเอียดได้ตามต้องการ ตามเสียงสะท้อนของผู้ใช้ และเนื่องจากโพรไฟล์ถูกเก็บในแหล่งตรงกลาง จึงช่วยให้ดูแลและติดตั้งใช้งานได้ง่าย

ใน GNOME 2.20 นี้ เครื่องมือแก้ไขโพรไฟล์ผู้ใช้สามารถใช้กำหนดค่าปรับแต่งปริยายของโปรแกรมในชุด OpenOffice.org ได้ นอกเหนือจากการรองรับโปรแกรม GNOME และ Mozilla ที่เคยรองรับอยู่แล้ว

รูปที่ 22การกำหนดค่าปรับแต่งปริยายของ OpenOffice.org สำหรับโพรไฟล์ผู้ใช้

3.2 GDM (GNOME Display Manager)

GDM รุ่นนี้สนับสนุนการเฝ้าระวังผ่าน utmp/wtmp ได้ดีขึ้น โดยเมื่อผู้ใช้เข้าหรือออกจากระบบ จะบันทึกรายการลงใน /var/adm/utmp และ /var/adm/wtmp ทำให้โปรแกรมอย่าง who และ finger สามารถใช้ข้อมูลใน utmp เพื่อดูว่ามีใครอยู่ในระบบอยู่บ้าง เป็นต้น นอกจากนี้ ยังสนับสนุนระบบเฝ้าระวังของลินุกซ์ผ่าน libaudit โดยบันทึกการเข้าระบบที่สำเร็จหรือล้มเหลวผ่านระบบเฝ้าระวังของเคอร์เนลลินุกซ์

GDM รุ่นนี้สามารถใช้ RBAC (Role Based Access Control) เพื่อควบคุมการใช้ความสามารถเรื่องการปิดเครื่อง เริ่มระบบใหม่ และพักเครื่องได้

4 มีอะไรใหม่สำหรับนักพัฒนา

แพลตฟอร์ม GNOME 2.20 สำหรับนักพัฒนา ให้ฐานที่มั่นคงสำหรับนักพัฒนาซอฟต์แวร์ทั่วไป ในการสร้างโปรแกรมประยุกต์ต่าง ๆ GNOME และแพลตฟอร์ม ใช้สัญญาอนุญาตที่อนุญาตให้ใช้สร้างทั้งซอฟต์แวร์เสรีและเชิงพาณิชย์ เพื่อทำงานบน GNOME ได้

ไลบรารีต่างๆ ในแพลตฟอร์ม GNOME จะรับประกันความคงที่ของ API และ ABI ไปตลอดการปล่อยรุ่นต่าง ๆ ของ GNOME 2.x แต่ไลบรารีต่าง ๆ ในตัวเดสก์ท็อป GNOME เอง ไม่มีการรับประกันนี้ แต่โดยส่วนใหญ่ก็จะสอดคล้องกันจากรุ่นถึงรุ่น

4.1 GTK+

GNOME 2.20 ใช้ API ของทูลคิตส่วนติดต่อผู้ใช้ GTK+ รุ่น 2.12 ซึ่งมีการเพิ่มความสามารถใหม่ และแก้ไขข้อบกพร่องต่าง ๆ การเปลี่ยนแปลงที่สำคัญ ๆ ได้แก่:

  • วิดเจ็ต GtkVolumeButton ใหม่ สำหรับใช้ในโปรแกรมเล่นสื่อ

  • คลาส GtkRecentAction ใหม่ สำหรับการใช้รายการเมนูเอกสารล่าสุด

  • API ของ GtkTooltip ซึ่งเป็นฉบับปรับปรุงให้ใช้สะดวกและทำงานได้มากกว่า API ของ GtkTooltips เดิมซึ่งเลิกใช้แล้ว ตัวอย่างเช่น ทำให้สามารถใช้คำแนะนำเครื่องมือใน GtkTreeView และกับวิดเจ็ตที่ปิดใช้งานได้

  • API ของ GtkBuilder ชุดใหม่ ซึ่งสามารถสร้างส่วนติดต่อผู้ใช้จากคำบรรยาย XML ได้ และมุ่งแทนที่ libglade ในอนาคตอันใกล้

  • การรองรับเอฟเฟ็กต์กราฟิกอย่างง่ายที่ฮาร์ดแวร์และไดรเวอร์สนับสนุน ผ่านฟังก์ชันอย่างเช่น gdk_window_set_composited() และ gdk_window_set_opacity()
  • วิธีป้อนข้อความชุดใหม่สำหรับภาษาไทยและลาว รวมทั้งวิธีป้อนข้อความแบบกดซ้ำที่ใช้ในโทรศัพท์มือถือ สำหรับอุปกรณ์ฝังตัว
  • ไอคอนสำเร็จรูปมีการปรับปรุงให้เข้ากับข้อกำหนด Tango ของ freedesktop เพื่อให้โปรแกรม GNOME มีรูปลักษณ์เข้ากันได้กับทูลคิตและเดสก์ท็อปอื่นยิ่งขึ้น
  • GtkFileChooser ในรุ่นนี้จะแสดงรายการเอกสารล่าสุด และสามารถเชื่อมกับระบบสืบค้นเดสก์ท็อป เช่น Beagle และ Tracker ด้วย ตามที่ได้กล่าวถึงแล้วในหัวข้อ "การจัดการแฟ้ม"

โปรดอ่านรายการ ฟังก์ชันใหม่ใน GTK+ 2.12 ประกอบ รายละเอียดทั้งหมดอยู่ในชุดอีเมล (ดู 1, 2, 3, 4) จาก Matthias Clasen

4.2 Glib

ไลบรารีอรรถประโยชน์ Glib รุ่นนี้มีฟังก์ชัน g_get_user_special_dir() ซึ่งใช้หาพาธไปยังโฟลเดอร์พิเศษที่กำหนดโดยข้อกำหนด xdg-user-dirs และเครื่องมือของ FreeDesktop.org

และสำหรับการประมวลผลข้อความ API GRegex ใหม่ ช่วยให้ค้นหาข้อความด้วยนิพจน์เรกิวลาร์ได้ โดยไม่ต้งใช้ไลบรารีเพิ่มเติมอีก

4.3 Pango

ระบบวาดข้อความ Pango มีรายการปรับปรุงหลายรายการ

ตัวอย่างเช่น มีกลไกจัดแสดงข้อความสำหรับภาษาเขียน N'Ko ที่ใช้โดยกลุ่มภาษา Mande ของชนกลุ่มน้อยในแอฟริกาตะวันตก ภาษาเหล่านี้ยังไม่เคยได้รับการสนับสนุนในคอมพิวเตอร์เลยกระทั่งบัดนี้

รูปที่ 23ตัวอย่างจากกลไกจัดแสดงข้อความภาษา N'Ko

กลไกการจัดเรียง OpenType ที่มีการปรับปรุง ทำให้ Pango สามารถเลือกรูปอักษรที่ถูกต้องตามภาษาที่ใช้อยู่ได้

รูปที่ 24กลไกการจัดเรียง OpenType ของ Pango ซึ่งเลือกรูปอักษรได้ถูกต้อง

นอกจากนี้ Pango รุ่นใหม่ยังมี:

  • การรองรับการระบุภาษาที่ต้องการหลายภาษาได้
  • การจัดแสดงข้อความแนวดิ่งที่ใช้เครื่องหมายวรรคตอนในรูปแนวดิ่ง
  • ฟังก์ชัน pango_cairo ใหม่ ซึ่งช่วยให้ใช้ Pango กับ cairo ได้ง่ายขึ้น

4.4 Glade

Glade เครื่องมือออกแบบส่วนติดต่อผู้ใช้ ได้รับการปรับปรุงอย่างมาก โดยเพิ่มส่วนติดต่อผู้ใช้ใหม่ และมีการปรับปรุงสถาปัตยกรรมภายใน ตัวอย่างเช่น หน้าต่างเครื่องมือต่าง ๆ อย่างเครื่องมือแก้ไข ช่องเฝ้ามอง และกล่องอุปกรณ์ สามารถ dock ได้แล้ว

รูปที่ 25Glade แสดงหน้าต่างที่แยกออกจาก dock

และในรุ่นนี้ คุณสามารถคลิกขวาที่วิดเจ็ต เพื่อแก้ไขสิ่งต่อไปนี้ได้โดยสะดวก:

  • เพิ่มหรือลบวิดเจ็ตแม่
  • แทรกหรือลบช่องสำหรับวางวิดเจ็ตก่อนหรือหลังวิดเจ็ตที่เลือกใน GtkBox
  • แทรกหรือลบหน้าก่อนหรือหลังหน้าที่เลือกใน GtkNotebook
  • แทรกหรือลบแถวหรือคอลัมน์ใน GtkTable

ผู้เขียนไลบรารีจะยินดีที่ได้พบว่า สามารถประกาศวิดเจ็ตใหม่ในแค็ตตาล็อกได้ โดยไม่ต้องเขียนโค้ดรองรับเลย ช่วยให้นักพัฒนาอื่นสามารถใช้วิดเจ็ตเพิ่มเติมของคุณได้ใน Glade

4.5 Accerciser

accerciser เครื่องมือสำรวจสิ่งอำนวยความสะดวกชิ้นใหม่ จะช่วยคุณตรวจสอบ ว่าโปรแกรมของคุณได้จัดเตรียมข้อมูลที่จำเป็นสำหรับเครื่องมือสิ่งอำนวยความสะดวกต่าง ๆ เช่น โปรแกรมอ่านหน้าจอ Orca ของ GNOME หรือไม่

รูปที่ 26Accerciser แสดงการตรวจสอบส่วนติดต่อผู้ใช้ของโปรแกรม

4.6 เอกสารสำหรับนักพัฒนา

เว็บไซต์เอกสารใหม่ของ GNOME คือ library.gnome.org บรรจุบทเรียน คู่มือ และเอกสารอ้างอิง API รุ่นใหม่ล่าสุดทั้งหมด เป็นผลงานของโครงการ Google Summer Of Code ซึ่งช่วยรับประกันได้ว่า เอกสารออนไลน์จะทันสมัยอยู่เสมอ ทั้งยังแสดงเอกสารหลายรุ่น ในหลายภาษาอีกด้วย

ในจำนวนนี้ มีเอกสาร ภาพรวมของแพลตฟอร์ม GNOME ซึ่งเป็นเอกสารใหม่ และเป็นส่วนหนึ่งของชุดซอฟต์แวร์ GNOME ส่วนที่เป็นทางการแล้ว โดยอยู่ในมอดูล gnome-devel-doc และถือเป็นจุดเริ่มต้นที่ดีสำหรับนักพัฒนา GNOME มือใหม่

รูปที่ 27ห้องสมุดออนไลน์สำหรับนักพัฒนาแห่งใหม่ของ GNOME

สำหรับเอกสารออฟไลน์ เราขอแนะนำให้ใช้โปรแกรม DevHelp โดยเฉพาะเมื่อจะค้นหาฟังก์ชันหรือชื่อคลาส แต่คุณก็ต้องไม่ลืมติดตั้งแพกเกจเอกสารที่เกี่ยวข้องจากดิสทริบิวชันของคุณด้วย DevHelp ก็เป็นส่วนหนึ่งของชุดเครื่องมือพัฒนาของ GNOME อย่างเป็นทางการแล้วเช่นกัน

5 การสนับสนุนนานาภาษา

ด้วยการทำงานของสมาชิกทั่วโลกของ โครงการแปล GNOME ทำให้ GNOME 2.20 สนับสนุนภาษาต่างๆ ถึง 48 ภาษา (ที่มีการแปลข้อความอย่างน้อย 80 เปอร์เซ็นต์) รวมทั้งมีเอกสารคู่มือสำหรับผู้ใช้และผู้ดูแลระบบในหลายภาษาด้วย

ภาษาที่สนับสนุน:

  • แอลเบเนีย
  • อารบิก
  • แบ็ซค์
  • เบ็งกาลี (อินเดีย)
  • บัลแกเรีย
  • โปรตุเกสบราซิล
  • คาตะลาน
  • จีนกลาง
  • จีน (ไต้หวัน)
  • จีน (ฮ่องกง)
  • เช็ก
  • เดนมาร์ก
  • ภูฏาน
  • ดัตช์
  • อังกฤษ
  • เอสโตเนีย
  • ฟินแลนด์
  • ฝรั่งเศส
  • กาลิเชียน
  • เยอรมัน
  • กรีก
  • คุชราตี
  • ฮินดี
  • ฮังการี
  • อินโดนีเซีย
  • อิตาลี
  • ญี่ปุ่น
  • เกาหลี
  • ลัตเวีย
  • ลิทัวเนีย
  • มาซิโดเนีย
  • มะละยาลัม
  • นอร์เวย์ Bokmål
  • โปแลนด์
  • โปรตุเกส
  • ปัญจาบี
  • โรมาเนีย
  • รัสเซีย
  • เซอร์เบีย
  • เซอร์เบียละติน
  • สเปน
  • สโลวีเนีย
  • สวีเดน
  • ทมิฬ
  • ไทย
  • ตุรกี
  • ยูเครน
  • เวียดนาม
  • เวลส์

มีอีกหลายภาษาที่สนับสนุนเพียงบางส่วน โดยมีการแปลข้อความเกินครึ่งหนึ่ง

6 การติดตั้ง GNOME

คุณสามารถทดลองใช้ GNOME 2.20 ได้จาก LiveCD ซึ่งมีซอฟต์แวร์ทั้งหมดที่อยู่ใน GNOME 2.20 รวมอยู่ในซีดีแผ่นเดียว สามารถดาวน์โหลดได้จาก แหล่ง BitTorrent ของ GNOME

ในการติดตั้งหรือปรับรุ่นเป็น GNOME 2.20 เราขอแนะนำให้คุณติดตั้งแพ็กเกจอย่างเป็นทางการจากผู้ผลิตหรือผู้แจกจ่ายของคุณ ดิสทริบิวชันหลัก ๆ จะเตรียม GNOME 2.20 ให้คุณเร็ว ๆ นี้ และบางดิสทริบิวชันก็อาจมี GNOME 2.20 รุ่นพัฒนาอยู่แล้วก็ได้ คุณสามารถดูรายชื่อของดิสทริบิวชันที่มี GNOME พร้อมทั้งรุ่นล่าสุดที่มีได้จากหน้า Get Footware ของเรา

ถ้าคุณกล้าและอดทนพอ และอยากจะคอมไพล์ GNOME จากซอร์สโค้ดเอง เราขอแนะนำให้ใช้เครื่องมือคอมไพล์อย่างใดอย่างหนึ่งต่อไปนี้ GARNOME สำหรับคอมไพล์จาก tarball ที่ปล่อยออกมา โดยคุณต้องใช้ GARNOME 2.20.x เพื่อคอมไพล์ GNOME 2.20.x นอกจากนี้ ยังมี jhbuild ซึ่งออกแบบมาสำหรับการคอมไพล์ GNOME ล่าสุดจาก SVN นอกจากนี้ คุณสามารถใช้ jhbuild คอมไพล์ GNOME 2.20.x โดยใช้ชุดมอดูล gnome-2.20 ได้

สำหรับผู้ที่ต้องการจะคอมไพล์เดสก์ท็อปทั้งหมดด้วยตัวเองจริง ๆ ลำดับของการคอมไพล์มอดูลก็คือ: libxml2, libgpg-error, libgcrypt, libxslt, gnome-common, intltool, rarian, gtk-doc, glib, libIDL, ORBit2, fontconfig, cairo, pango, gnome-doc-utils, atk, shared-mime-info, gtk+, gconf, libbonobo, gail, at-spi, gnome-mime-data, desktop-file-utils, libdaemon, dbus, dbus-glib, dbus-python, pygobject, pycairo, libglade, pygtk, avahi, libvolume_id, hal, gamin, gnome-vfs, audiofile, esound, libart_lgpl, libgnome, libgnomecanvas, libbonoboui, hicolor-icon-theme, icon-naming-utils, gnome-icon-theme, gnome-keyring, libgnomeui, gnome-menus, alacarte, libtasn1, opencdk, gnutls, libsoup, mozilla, evolution-data-server, libgtop, startup-notification, gtk-engines, gnome-themes, gnome-desktop, bug-buddy, metacity, libgsf, libcroco, libgnomecups, libgnomeprint, libgnomeprintui, librsvg, eel, nautilus, libxklavier, libgnomekbd, gstreamer, liboil, gst-plugins-base, libwnck, gnome-panel, gnome-control-center, gnome-speech, dasher, pyorbit, gnome-python, gtksourceview-1.0, nautilus-cd-burner, gst-plugins-good, libmusicbrainz, iso-codes, totem, gnome-media, gnome-python-desktop, deskbar-applet, pwlib, opal, ekiga, eog, enchant, epiphany, poppler, evince, gtkhtml, evolution, evolution-exchange, evolution-webcal, fast-user-switch-applet, file-roller, gcalctool, gconf-editor, gdm2, gtksourceview, pygtksourceview, gedit, gucharmap, system-tools-backends, gnome-applets, gnome-backgrounds, gnome-games, gnome-keyring-manager, gnome-netstatus, gnome-nettool, libcolorblind, gnome-mag, gnome-power-manager, gnome-screensaver, gnome-session, libsigc++2, glibmm, cairomm, gtkmm, gnome-system-monitor, liboobs, gnome-system-tools, vte, gnome-terminal, gnome-user-docs, gnome-utils, gnome-volume-manager, gok, libgail-gnome, orca, seahorse, sound-juicer, tomboy, vino, yelp, zenity, pessulus, sabayon, devhelp, glade3, accerciser, gnome-devel-docs

รายการดังกล่าว แสดงไว้เพื่อการอ้างอิงเท่านั้น เราขอแนะนำให้ผู้ใดก็ตามที่พยายามจะคอมไพล์ GNOME จากซอร์สโค้ด พิจารณาใช้เครื่องมือคอมไพล์ที่กล่าวถึงข้างต้น

7 มุ่งสู่ GNOME 2.22

อย่างที่เคยเป็นมา การพัฒนาไม่ได้หยุดอยู่เพียงแค่ GNOME 2.20 อีกหกเดือนหลังจากวันที่ GNOME 2.20 ออก GNOME 2.22 ก็จะออกตามมา โดยพัฒนาต่อจากฐานที่ได้สร้างไว้ในรุ่นก่อน

สิ่งที่จะมาใน GNOME 2.22 รวมถึง:

แผนงาน GNOME จะให้รายละเอียดแผนงานของนักพัฒนาสำหรับการออกรุ่นหน้า และ กำหนดการออก GNOME 2.22 จะประกาศเร็ว ๆ นี้

8 ผู้จัดทำ

บันทึกประจำรุ่นนี้รวบรวมโดย Murray Cumming, Jorge Castro และ Andreas Nilsson ด้วยความช่วยเหลือจากชุมชน GNOME ในนามของชุมชน GNOME เราขอขอบคุณด้วยความซาบซึ้ง ต่อนักพัฒนาและผู้ร่วมสมทบทุกคน ที่ทำให้ GNOME รุ่นนี้เกิดขึ้นได้

บันทึกนี้ สามารถแปลเป็นภาษาใดๆ ได้อย่างเสรี หากคุณประสงค์จะแปลเป็นภาษาของคุณ กรุณาติดต่อ โครงการแปล GNOME