บันทึกประจำรุ่น GNOME 2.14

1 มีอะไรใหม่สำหรับผู้ใช้

การมุ่งเน้นที่ผู้ใช้และความสะดวกใช้ของโครงการ GNOME ยังคงดำเนินต่อไปใน GNOME 2.14 จากการแก้ไขข้อผิดพลาดและการปรับปรุงที่ผู้ใช้ร้องขอหลายร้อยรายการ แต่จำนวนรายการการปรับปรุงทั้งหมด ก็เป็นไปไม่ได้ที่จะกล่าวถึงได้หมด หน้านี้จึงมุ่งสรุปเน้นความสามารถเด่นๆ ที่ผู้ใช้จะสนใจใน GNOME รุ่นนี้

1.1 การปรับปรุงเรื่องประสิทธิภาพ

อย่างที่คุณอาจจะปรับแต่งรถของคุณ วิศวกรยอดฝีมือของ GNOME ได้ทุ่มเทปรับแต่งหลายส่วนของ GNOME ให้ทำงานเร็วที่สุดเท่าที่จะทำได้ ขณะนี้ องค์ประกอบสำคัญจำนวนมากของเดสก์ท็อป GNOME ได้ทำงานเร็วขึ้นอย่างสามารถวัดได้ ซึ่งรวมถึงการวาดข้อความ การจัดสรรหน่วยความจำ และโปรแกรมอิสระจำนวนมาก ความเร็วของการวาดข้อความและการจัดสรรหน่วยความจำที่เพิ่มขึ้น เป็นประโยชน์ต่อโปรแกรม GNOME และ GTK+ ทั้งหมด โดยไม่จำเป็นต้องคอมไพล์โปรแกรมใหม่เลย

บางโปรแกรมได้รับความเอาใจใส่เป็นพิเศษ เพื่อให้มั่นใจว่าได้ทำงานอย่างเต็มประสิทธิภาพจริงๆ เทอร์มินัล GNOME ซึ่งเป็นโปรแกรมจำลองเทอร์มินัลสำหรับเดสก์ท็อป GNOME ได้รับการปรับประสิทธิภาพในหลายด้าน เพื่อให้ทำงานเร็วขึ้น และประหยัดทรัพยากรด้วยในเวลาเดียวกัน โปรแกรมดูบันทึกปฏิบัติการของ GNOME ก็เปิดโปรแกรมได้เร็วขึ้นกว่า 20 เท่าจากรุ่นก่อน

รูปที่ 1การปรับปรุงประสิทธิภาพของเทอร์มินัล GNOME จาก GNOME 2.12 มา 2.14 เวลาที่วัดคือเวลาที่ใช้แสดงรายการคำในภาษาอังกฤษทั้งหมดออกทางหน้าจอ
รูปที่ 2การปรับปรุงประสิทธิภาพของโปรแกรมดูบันทึกปฏิบัติการระบบ จาก GNOME 2.12 มา 2.14 แสดงการเปรียบเทียบเวลาที่ใช้เปิดโปรแกรมและอ่านแฟ้มบันทึกปฏิบัติการขนาด 2.9 MB

1.2 การค้นที่หลากหลายขึ้น

Nautilus โปรแกรมจัดการแฟ้มของ GNOME ในรุ่นนี้ มีวิธีการค้นหาที่ทรงพลัง ที่สามารถเรียกใช้ได้โดยกด (Ctrl-F) บนพื้นโต๊ะ หรือในหน้าต่างจัดการแฟ้ม

รูปที่ 3การค้นหาด้วย Nautilus

การค้นหา สามารถสร้างได้อย่างง่ายดาย และสามารถบันทึกผลลงในโฟลเดอร์ หรือบนพื้นโต๊ะได้ การค้นหาที่บันทึกไว้ สามารถเปิดเหมือนเป็นโฟลเดอร์ได้ในภายหลัง

ถ้ามีโครงร่าง Beagle สำหรับค้นหาอยู่ในระบบ Nautilus ก็จะเรียกใช้ เพื่อการค้นหาที่เร็วขึ้น และตามบริบทมากขึ้น

1.3 คู่มือที่เพิ่มขึ้น

โปรแกรมดูคู่มือวิธีใช้ของ GNOME ก็มีความสามารถใหม่ ที่สามารถค้นหาวิธีใช้และเอกสารต่างๆ ที่ติดตั้งอยู่ในเครื่องของคุณได้ และในรุ่นนี้ ด้วยความสามารถในการเข้าถึงทั้ง GNU Info และ manpage ตามแบบฉบับของยูนิกซ์ รวมทั้งเอกสารต่างๆ ที่มากด้วยคุณภาพของ GNOME ทำให้คุณสามารถค้นหาเอกสารได้แทบทุกอย่างที่มีอยู่ในระบบของคุณได้อย่างค่อนข้างรวดเร็ว

รูปที่ 4ค้นเอกสารวิธีใช้ ดูแฟ้ม GNU Info และอ่าน manpage

ทำนองเดียวกับโปรแกรมจัดการแฟ้ม ผู้ใช้ที่มีโครงร่าง Beagle สำหรับค้นหา ก็สามารถเรียกใช้ได้ เพื่อการค้นหาที่เร็วและแม่นยำยิ่งขึ้น

1.4 Ekiga

Ekiga หรือที่เดิมรู้จักกันในนาม GNOME Meeting เป็นโปรแกรมไคลเอนต์เสียงและภาพผ่าน IP ของ GNOME; Ekiga สนับสนุนทั้งโพรโทคอล SIP และ H323 โพรโทคอล SIP ที่ใช้ใน Google Talk, Asterisk และซอฟต์แวร์และอุปกรณ์ฮาร์ดแวร์ VoIP อื่นๆ อีกมากมาย เป็นความสามารถใหม่ที่เพิ่มในรุ่นนี้ ส่วนโพรโทคอล H323 เป็นโพรโทคอลสื่อสารเก่าที่ใช้ใน Microsoft Netmeeting และอุปกรณ์สื่อสารทางไกลบางชนิด

นอกจากนี้ Ekiga ยังสนับสนุน STUN เพื่อให้สามารถเชื่อมต่อทะลุผ่านไฟร์วอลล์ชนิดต่างๆ รวมทั้งไฟร์วอลล์ที่แปลงที่อยู่เครือข่าย (NAT) ได้ ซึ่งหมายความว่า คุณสามารถใช้ Ekiga เพื่อเรียกและรับสายได้ โดยไม่จำเป็นต้องมีหมายเลขไอพีสาธารณะ หรือส่งต่อพอร์ตจากเราเตอร์ของคุณ

รูปที่ 5การเรียกสาย SIP ด้วย Ekiga

ผู้ใช้สามารถเปิดบัญชีกับ Ekiga.net ซึ่งจะได้ที่อยู่ SIP ที่สามารถใช้ในอินเทอร์เน็ต เพื่อเรียกและรับสายจากที่ใดก็ได้

1.5 การจัดการหน้าต่างที่พัฒนาขึ้น

มีการเพิ่มความสามารถใหม่ๆ ใน Metacity มากมาย เพื่อช่วยปรับปรุงการจัดการหน้าต่าง ในรุ่นนี้ ขอบหน้าต่างจะกีดขวางกันได้ ทำให้สามารถเลื่อนหน้าต่างไปชิดกันได้ง่าย การจัดการระบบที่มีหลายจอภาพ ก็มีการปรับปรุงด้วย โดย Metacity รุ่นนี้ จะพยายามขยับหน้าต่างที่ต้องการวางข้ามขอบจอ ไปไว้ที่จอใดจอหนึ่ง

เพื่อช่วยผู้ดูแลระบบและผู้ใช้ที่ใช้งานหลายเครื่องจาก X server เดียวกัน Metacity รุ่นนี้ จะแสดงชื่อโฮสต์ของหน้าต่างที่ไม่ได้ทำงานในเครื่องท้องถิ่นในแถบหัวหน้าต่างด้วย ซึ่งจะเป็นประโยชน์อย่างมากเมื่อคุณเปลี่ยนค่าตั้งในเครื่องต่างๆ หลายเครื่องผ่านระบบกราฟิกส์ เพื่อช่วยให้คุณมั่นใจว่า กำลังเปลี่ยนค่าในเครื่องที่ถูกต้อง

รูปที่ 6การเรียกหน้าต่างที่เหมือนกันจากเครื่องเดียวกัน และจากเครื่องอื่นในเครือข่าย

1.6 เดสก์บาร์

เดสก์บาร์ เป็นเครื่องมือใหม่ใน GNOME ซึ่งผู้ใช้ที่เชี่ยวชาญ ผู้ใช้ที่ชอบใช้แป้นพิมพ์ และผู้ใช้ที่เคยใช้บรรทัดคำสั่งของพาเนล จะพบว่าเครื่องมือใหม่ที่มาแทนนี้เก่งกาจและใช้ง่ายอย่างเหลือเชื่อ เดสก์บาร์จะใช้ปลั๊กอิน (ซึ่งเขียนด้วยภาษาไพธอน) ในการเพิ่มชนิดของการค้นหา ไม่ว่าจะเป็นโปรแกรม แฟ้ม โฟลเดอร์ ที่คั่นหน้า ที่อยู่ติดต่อ และอื่นๆ อีกมากมาย นอกจากนี้ เดสก์บาร์ยังสามารถเรียกใช้การค้นหาสดๆ อย่าง Google Live, Yahoo และ Beagle ได้ด้วย

รูปที่ 7การค้นหา 'net'

เดสก์บาร์ทำงานได้ทั้งแบบวางในพาเนล และแบบพับเก็บเพื่อใช้กับพาเนลแนวตั้งหรือพาเนลที่มีที่ว่างน้อย ในการค้นหา เพียงกด (Alt-F3) แล้วป้อนคำค้น นอกจากนี้ คุณยังสามารถเรียกดูหรือค้นประวัติคำสั่งของคุณได้เช่นกัน

1.7 การปรับปรุงเรื่องการเข้าระบบ

มีการปรับปรุงใหม่มากมายในโปรแกรมจัดการการเข้าระบบ (GDM) การปรับปรุงประสิทธิภาพที่พบทั่วทังเดสก์ท็อปก็ปรากฏในการเข้าระบบเช่นกัน นอกจากนี้ ยังมีปุ่ม "ตัวเลือก" ที่เพิ่มขึ้นในหน้าต้อนรับ ซึ่งช่วยให้เข้าถึงความสามารถต่างๆ ของการเข้าระบบได้ และยังมีความสามารถใหม่เกี่ยวกับ "การเข้าระบบเครื่องอื่นแบบนิรภัย" เพิ่มเข้ามา เพื่อที่ผู้ใช้จะสามารถเข้าใช้ X server ได้อย่างปลอดภัยและง่ายดาย หน้าตาของหน้าต้อนรับก็ยังได้รับการปรับปรุงขึ้นอีก โดยให้ผู้ใช้ปรับแต่งเองได้มากยิ่งขึ้น

รูปที่ 8ในรุ่นนี้ การปรับแต่งหน้าจอเข้าระบบทำได้ง่ายกว่ารุ่นก่อนๆ ที่เคยมีมา ด้วยหน้าต่างปรับแต่ง GDM ที่ได้รับการออกแบบใหม่ทั้งหมด

ข้อสังเกต: แฟ้มที่ผู้ใช้จะใช้ตั้งค่า GDM ได้เปลี่ยนจาก /etc/gdm/gdm.conf เป็น /etc/gdm/custom.conf แล้ว กรุณาอ่านข้อมูลเพิ่มเติมได้จากเว็บของ โครงการ GDM

1.8 การสลับผู้ใช้อย่างเร็ว

GNOME 2.14 มีความสามารถในการสลับผู้ใช้อย่างเร็วทั่วทั้งเดสก์ท็อป ทั้งกล่องโต้ตอบออกจากระบบและปลดล็อคหน้าจอ จะมีตัวเลือกในการสลับผู้ใช้ไปเป็นผู้ใช้อื่น และคุณสามารถเพิ่มเมนูในพาเนลเพื่อการสลับผู้ใช้อย่างเร็วได้

รูปที่ 9การสลับผู้ใช้อย่างเร็วจากพาเนล
รูปที่ 10สลับผู้ใช้จากการล็อคจอ

1.9 ระบบปฏิทินใช้ร่วม

ความสามารถใหม่ใน Evolution 2.6 คือระบบปฏิทินที่ใช้ร่วมกันได้ผ่าน CalDAV โพรโทคอลปฏิทินใช้ร่วม CalDAV เป็นโพรโทคอลที่ได้รับการสนับสนุนในเซิร์ฟเวอร์ของกรุ๊ปแวร์หลายตัว ซึ่งรวมถึงเซิร์ฟเวอร์ Hula™ ที่แจกจ่ายอย่างเสรีด้วย

รูปที่ 11การดูปฏิทินใช้ร่วมจาก Hula™

1.10 ที่คั่นหน้าที่ฉลาดขึ้น

เว็บเบราว์เซอร์ Epiphany ยังคงพยายามทำให้การท่องเว็บง่ายขึ้นอีกต่อไป ความสามารถใหม่ในรุ่นนี้ คือการสร้างลำดับชั้นของที่คั่นหน้าโดยอัตโนมัติ ซึ่งช่วยลดภาระในการจัดการชุดที่คั่นหน้าขนาดใหญ่ แต่ยังคงรักษาระบบจัดการที่คั่นหน้าตามหมวดที่เรียบง่ายและเป็นที่นิยมของ Epiphany เอาไว้ ในรุ่นนี้ การเลือกและสร้างหมวดทำได้ง่ายกว่าเดิมมาก และ Epiphany ยังช่วยแนะนำหมวดให้ โดยอาศัยสถิติการใช้งานในอดีตอีกด้วย

รูปที่ 12การจัดการที่คั่นหน้าและการควบคุม stylesheet ที่ดีขึ้น

นอกจากนี้ ในรุ่นนี้ยังสนับสนุนการกำหนด stylesheet เองโดยผู้ใช้ รวมทั้งระบบอำนวยการใช้งานที่ดีขึ้น และการควบคุมการจัดแสดงหน้าเว็บ ในเบื้องหลังฉาก Epiphany รุ่นนี้สามารถใช้ทั้ง Firefox, Mozilla หรือ XULRunner เป็นแบ็กเอนด์ก็ได้ และถ้าคุณใช้ NetworkManager™ ล่ะก็ Epiphany ก็จะสามารถตรวจจับการตั้งค่าเครือข่ายของคุณได้โดยอัตโนมัติ

1.11 เครื่องมือแก้ไขข้อความที่ดีขึ้น

Gedit ยังคงพัฒนาต่อไปเพื่อความสะดวกใช้ในฐานะเครื่องมือแก้ไขข้อความอย่างง่าย พร้อมความสามารถทั้งหลายที่คุณต้องการในการพัฒนาโปรแกรมหรือเว็บไซต์ ความสามารถใน Gedit 2.14 ได้แก่การปรับปรุงการจัดการเอกสารหลายชิ้น และการบันทึกลงยังแฟ้มในเครือข่าย ตัวอย่างเช่น Gedit รุ่นนี้สามารถเรียกดูและแก้ไขแฟ้มจากไดเรกทอรี SFTP, FTP และ WebDAV โดยตรงอย่างไม่สะดุดจากการเรียกดูแฟ้ม และยังได้ปรับปรุงการเน้นข้อความตามไวยากรณ์ของ HTML, PHP, PSP และอื่นๆ ด้วย ความสามารถเหล่านี้ เมื่อรวมกันเข้า ก็ทำให้ Gedit กลายเป็นเครื่องมือแก้ไขข้อความที่ทรงพลังซึ่งสามารถจัดการงานต่างๆ ที่ผู้ใช้ต้องการได้ทั้งหมด

รูปที่ 13Gedit สามารถจัดการแฟ้มจากหลายแหล่งได้อย่างง่ายดาย ไม่ว่าจะเป็นการเปิดหรือบันทึกในเครื่องเดียวกัน หรือในเครื่องอื่นในเครือข่าย

ความสามารถใหม่อีกอย่างหนึ่ง คือการเขียนปลั๊กอินสำหรับ Gedit ด้วยภาษาไพธอน ซึ่งช่วยให้การขยายความสามารถและการปรับแต่ง Gedit ทำได้ง่ายดาย แม้สำหรับผู้ที่ไม่ใช่โปรแกรมเมอร์มือฉมังก็ตาม ตัวอย่างปลั๊กอินที่มากับ Gedit ที่มีประโยชน์ เช่น การเรียกคำสั่งภายนอก การสนับสนุนการเติมเต็มคำอัตโนมัติด้วยแท็ก และคอนโซลโต้ตอบสำหรับไพธอน เป็นต้น

รูปที่ 14กล่องโต้ตอบปลั๊กอิน แสดงคุณสมบัติของปลั๊กอินเรียกคำสั่งภายนอก

1.12 โปรแกรมแสดงรูป

โปรแกรมแสดงรูปของ GNOME มีแถบเครื่องมือใหม่ที่ช่วยท่องดูรูปภาพ ในรุ่นนี้ เมื่อคุณเปิดรูปภาพ คุณสามารถดูรูปภาพอื่นๆ ในไดเรกทอรีเดียวกันได้อย่างง่ายดาย

รูปที่ 15ท่องดูรูปภาพต่างๆ ในไดเรกทอรีเดียวกันอย่างง่ายดาย

1.13 โปรแกรมรักษาหน้าจอที่เชื่อมรวมแล้ว

GNOME รุ่นนี้มีโปรแกรมรักษาหน้าจอที่เชื่อมรวมแล้ว โปรแกรมรักษาหน้าจอของ GNOME ทำงานร่วมกับ "แฮ็ก" ทั้งหลายที่เป็นที่นิยมใน Xscreensaver ได้ แต่ยังมีความสามารถใหม่มากมายที่ไม่มีใน Xscreensaver โปรแกรมที่รู้จักโปรแกรมรักษาหน้าจอของ GNOME จะสามารถสื่อสารเพื่อกำหนดค่า เช่น "ไม่ต้องล้างจอ" ผ่านช่องติดต่อมาตรฐานได้ กล่องโต้ตอบอย่างการปลดล็อคหน้าจอ ก็สามารถแปลเป็นภาษาของคุณได้แล้ว และมีการอำนวยการใช้งานสำหรับผู้พิการ การเพิ่มการสนับสนุนระบบอำนวยการใช้งานนี้ ช่วยให้ผู้ใช้ที่พิการสามารถปลดล็อคหน้าจอได้ และนี่เป็นส่วนหนึ่งของการปรับปรุงระบบอำนวยการใช้งานที่ทำกันอยู่ทั่วทั้งเดสก์ท็อป GNOME

รูปที่ 16การปรับแต่งค่าโปรแกรมรักษาหน้าจอของ GNOME

ผู้ใช้ที่ยังคงต้องการใช้ Xscreensaver ต่อไป ก็ยังคงทำได้ กรุณาศึกษาจากเอกสารของผู้ผลิต ว่าจะตั้งค่าดังกล่าวได้อย่างไร

1.14 GStreamer รุ่นล่าสุด

GNOME 2.14 ใช้เทคโนโลยีของ GStreamer 0.10 โครงร่างระบบสื่อผสม GStreamer เป็นโครงร่างระบบเสียงและภาพที่ทรงพลังและเสียบต่อเติมได้ ซึ่งใช้กันบนเดสก์ท็อปลินุกซ์และยูนิกซ์ รวมทั้งอุปกรณ์ฝังตัวและอื่นๆ อีกมากมาย รุ่นล่าสุดของ GStreamer ทำงานได้เร็วขึ้นและเสถียรขึ้นกว่ารุ่นก่อนๆ ที่เคยมีมา ประเด็นอย่างเรื่องความพ้องกันของเสียงกับภาพในอุปกรณ์ต่างชิ้นกัน ก็ได้รับการแก้ไขแล้ว รวมทั้งการทำเธรดและการจัดการปลั๊กอินระบบสื่อผสมแบบพลวัต ซึ่งคุณสามารถอ่านข้อมูลเพิ่มเติมของ GStreamer ได้จาก เว็บไซต์ของ GStreamer

โปรแกรมระบบสื่อผสมทั้งหมดที่มากับ GNOME ได้รับการปรับให้ใช้ความสามารถของ GStreamer รุ่นล่าสุดแล้ว ซึ่งรวมถึง Totem, Sound Juicer และเครื่องมือควบคุมระดับเสียง

GStreamer 0.10 ยังให้ผู้ใช้ใช้ปลั๊กอินสื่อผสมที่แจกจ่ายโดยผู้ผลิตทั่วไปได้ด้วย ซึ่งช่วยให้ผู้ผลิตสามารถให้บริการการแปลงรหัสที่สงวนสิทธิ์ ซึ่งปลั๊กอินแปลงรหัสไม่สามารถแจกจ่ายอย่างเสรีได้ (ด้วยเงื่อนไขกฎหมาย) การแปลงรหัสดังกล่าวอาจรวมถึงการสนับสนุน AC3, WMA, MP3 และอื่นๆ ปลั๊กอิน GStreamer 0.10 สำหรับ MP3 ตัวหนึ่งที่สงวนสิทธิ์ แต่แจกจ่ายฟรี ได้เผยแพร่อยู่ที่ Fluendo ซึ่งเป็นผู้สนับสนุน GStreamer มาเป็นเวลานาน

1.15 การปรับแต่งที่ง่ายดาย

GNOME มีความภาคภูมิใจในความง่ายของการปรับแต่ง และเสนอตัวเลือกที่เรียบง่ายแก่ผู้ใช้ โดยที่ยังคงความยืดหยุ่นของสิ่งต่างๆ ไว้ องค์ประกอบจำนวนหนึ่งในศูนย์ควบคุม GNOME ได้รับการปรับให้ใช้ง่ายขึ้น เพื่อให้คุณสามารถปรับแต่งตามต้องการได้อย่างรวดเร็วและง่ายดาย

รูปที่ 17กำหนดโปรแกรมที่ชอบโดยเลือกจากรายชื่อ หรือป้อนคำสั่ง
รูปที่ 18เลือกเสียงจากเสียงที่มีอยู่ หรือกำหนดแฟ้มเสียงของคุณเองจากระบบแฟ้ม

2 มีอะไรใหม่สำหรับผู้ดูแลระบบ

ใน GNOME 2.14 นี้ โครงการ GNOME เริ่มมีชุดโปรแกรมสำหรับผู้ดูแลระบบด้วย ซึ่งรวบรวมเครื่องมือที่มุ่งเน้นสำหรับผู้ดูแลระบบโดยเฉพาะ เครื่องมือใหม่สองชิ้นที่ทำให้เริ่มมีชุดโปรแกรมนี้ เป็นเครื่องมือที่มากด้วยความสามารถอย่างเหลือเชื่อ ซึ่งจะช่วยผู้ดูแลระบบทั้งในการใช้งานจริงในองค์กรใหญ่ และในสถานการณ์ที่ต้องจำกัดขอบเขตการใช้งานเครื่อง

2.1 Pessulus - เครื่องมือจำกัดการใช้งาน

Pessulus เป็นเครื่องมือจำกัดการใช้งาน ที่ช่วยให้ผู้ดูแลระบบสามารถปิดการใช้ความสามารถต่างๆ ของเดสก์ท็อป GNOME ได้อย่างง่ายดาย ซึ่งอาจเป็นที่ต้องการในสภาพแวดล้อมในองค์กร และในร้านอินเทอร์เน็ต ในขณะที่ความสามารถในการจำกัดการใช้งานมีใน GNOME มาหลายปีแล้ว แต่ Pessulus เข้ามาช่วยให้ผู้ดูแลระบบสามารถจัดการงานนี้ได้อย่างง่ายดาย

รูปที่ 19การใช้เครื่องมือจำกัดการใช้งานเพื่อป้องกันผู้ใช้ปิดระบบ

ความสามารถบางอย่างที่สามารถปิดได้ เช่น:

  • การอนุญาตให้ใช้บรรทัดคำสั่ง
  • การอนุญาตให้ปิดเครื่องหรือเริ่มเปิดเครื่องใหม่
  • การอนุญาตให้ใช้โพรโทคอลบางอย่างในเว็บเบราว์เซอร์
  • การอนุญาตให้แก้ไขพาเนล GNOME

2.2 Sabayon - เครื่องมือแก้ไขโพรไฟล์

Sabayon ช่วยให้ผู้ดูแลระบบสามารถกำหนดโพรไฟล์ผู้ใช้ได้ในวาระโต้ตอบสดๆ เมื่อมีการสร้างหรือแก้ไขโพรไฟล์ จะเปิดวาระ GNOME ซ้อนในหน้าต่าง ซึ่งผู้ดูแลระบบสามารถใช้เปลี่ยนคีย์ปกติและคีย์บังคับของ GConf ได้ภายในวาระ GNOME ของผู้ดูแลระบบเอง

รูปที่ 20Sabayon ขณะแก้ไขโพรไฟล์ผู้ใช้

ภายในหน้าต่างซ้อน ผู้ดูแลระบบสามารถสร้างโพรไฟล์เฉพาะรายบุคคล ตามประเภทของงาน (เช่น พนักงานต้อนรับ พนักงานป้อนข้อมูล โปรแกรมเมอร์ ผู้บริหารทรัพยากรบุคคล ฯลฯ) ได้ โพรไฟล์เหล่านี้ สามารถบันทึกและนำไปใช้งานในเครื่องเดสก์ท็อปหลายเครื่องได้โดยสะดวก และช่วยประหยัดเวลาผู้ดูแลระบบ นอกจากนี้ โพรไฟล์ต่างๆ ยังสามารถเปลี่ยนแปลงและปรับละเอียดได้ตามต้องการ ตามเสียงสะท้อนของผู้ใช้ และเนื่องจากโพรไฟล์ถูกเก็บในแหล่งตรงกลาง จึงช่วยให้ดูแลและติดตั้งใช้งานได้ง่าย

3 มีอะไรใหม่สำหรับนักพัฒนา

แพลตฟอร์ม GNOME 2.14 สำหรับนักพัฒนา สร้างฐานที่มั่นคงสำหรับนักพัฒนาซอฟต์แวร์ทั่วไป ในการสร้างโปรแกรมประยุกต์ต่างๆ GNOME และแพลตฟอร์ม ใช้สัญญาอนุญาตที่อนุญาตให้ใช้สร้างทั้งซอฟต์แวร์เสรีและเชิงพาณิชย์ เพื่อทำงานบน GNOME ได้

ไลบรารีต่างๆ ในแพลตฟอร์ม GNOME จะรับประกันความคงที่ของ API และ ABI ไปตลอดการปล่อยรุ่นต่างๆ ของ GNOME 2.x แต่ไลบรารีต่างๆ ในตัวเดสก์ท็อป GNOME เอง ไม่มีการรับประกันนี้ แต่โดยส่วนใหญ่ก็จะสอดคล้องกันจากรุ่นถึงรุ่น

3.1 GSlice

ใน GLib 2.10 ตัวจัดสรรหน่วยความจำ GSlice จะมาแทน GMemChunk และ GTrashStacks ซึ่งเป็น API เก่า GSlice มีความคล้ายคลึงกับตัวจัดสรร slab ของเคอร์เนลมาก และช่วยให้จองหน่วยความจำชิ้นเล็กๆ (เช่น องค์ประกอบของ GList, โครงสร้าง GtkWindow) ได้อย่างรวดเร็วและประหยัดหน่วยความจำ GSlice ยังไม่มีความสิ้นเปลืองจากการล็อคที่ GMemChunk มี ซึ่งทำให้สามารถทำงานได้เร็วขึ้นมากในโปรแกรมที่มีหลายเธรด

รูปที่ 21ประสิทธิภาพของตัวจัดสรรหน่วยความจำ ขณะจองและคืนองค์ประกอบ GList จำนวน 1 ล้านชิ้น ใน 1 (แดง), 5 (เหลือง), 10 (เขียว) และ 20 (น้ำเงิน) เธรด

GMemChunk ก็ได้รับการเขียนขึ้นใหม่ เพื่อเรียกใช้ GSlice โดยไม่ต้องเปลี่ยนที่โปรแกรมที่เรียก แต่ API ของ GMemChunk ก็ถือได้ว่าปลดระวางแล้ว

การจองหน่วยความจำด้วยตัวจัดสรรหน่วยความจำ GSlice ทำได้โดยเรียก g_slice_new (MyStructure); ซึ่งจะคืนค่าพอยน์เตอร์ (ptr) มา การคืนหน่วยความจำที่จองด้วย GSlice ทำได้โดยเรียกฟังก์ชัน g_slice_free (MyStructure, ptr);

GSlice จะใช้แคชที่เป็นของเธรดซึ่งขยายตัวได้ เก็บชิ้นหน่วยความจำขนาดต่างๆ ไว้ สำหรับการจองหน่วยความจำขนาดใหญ่ GSlice จะเรียกใช้ตัวจัดสรรหน่วยความจำ g_malloc ให้เองโดยอัตโนมัติ ดังนั้น นักพัฒนาจึงไม่จำเป็นต้องเลือกวิธีจัดสรรหน่วยความจำที่มีประสิทธิภาพที่สุดเอง

3.2 การลงทะเบียนบริการ

GNOME รุ่นล่าสุดมีวิธีให้นักพัฒนาลงทะเบียนโปรแกรมเพื่อให้เปิดโดยอัตโนมัติพร้อมกับที่ GNOME เริ่มทำงาน การลงทะเบียนทำได้โดยติดตั้งแฟ้ม .desktop ใน $prefix/share/gnome/autostart/, /etc/xdg/autostart/ หรือ ~/.config/autostart/ ถ้าคุณต้องการเพียงติดตั้งบริการ โดยไม่เปิดใช้โดยปริยาย คุณก็สามารถเพิ่มคุณสมบัติ X-GNOME-autostart-enabled = False ได้

มีคำเตือนบางประการในการลงทะเบียนบริการด้วยวิธีนี้:

  • โปรแกรมที่ลงทะเบียนตัวเองกับวาระด้วยวิธีอื่นอยู่แล้ว (เช่น nautilus, gnome-panel, vino) ไม่ควรลงทะเบียนด้วยวิธีนี้
  • โปรแกรมที่มีการจัดการวาระ จะถูกจัดการแบบไม่เรียบร้อย ดังนั้น กรุณาตรวจให้แน่ใจ ว่าคุณได้ส่งแฟล็ก --sm-disable ในบรรทัด Exec ของคุณด้วย

4 การสนับสนุนนานาภาษา

ด้วยการทำงานของสมาชิกทั่วโลกของ โครงการแปล GNOME ภายใต้การนำของ Christian Rose และ Danilo Šegan ทำให้ GNOME 2.14 สนับสนุนภาษาต่างๆ ถึง 45 ภาษา (ที่มีการแปลข้อความอย่างน้อย 80 เปอร์เซ็นต์)

ภาษาที่สนับสนุน:

  • แอลเบเนีย (ผู้พูด 5 ล้านคน)
  • แบ็ซค์ (580,000)
  • เบ็งกาลี (189 ล้าน)
  • โปรตุเกสบราซิล (175 ล้าน)
  • บัลแกเรีย (9 ล้าน)
  • คาตะลาน (7 ล้าน)
  • จีน (ฮ่องกง)
  • จีน (ไต้หวัน) (40 ล้าน)
  • จีนประยุกต์ (กว่า 1 พันล้าน)
  • เช็ก (11 ล้าน)
  • เดนมาร์ก (5.3 ล้าน)
  • ดัทช์ (กว่า 21 ล้าน)
  • อังกฤษ (341 ล้าน)
  • เอสโตเนีย (1 ล้าน)
  • ฟินแลนด์ (กว่า 5 ล้าน)
  • ฝรั่งเศส (กว่า 75 ล้าน)
  • กาลิเชียน (3 ล้าน)
  • เยอรมัน (100 ล้าน)
  • กรีก (15 ล้าน)
  • คุชราตี (46 ล้าน)
  • ฮินดี (370 ล้าน)
  • ฮังการี (14.5 ล้าน)
  • อินโดนีเซีย (230 ล้าน)
  • อิตาเลียน (60 ล้าน)
  • ญี่ปุ่น (กว่า 125 ล้าน)
  • เกาหลี (75 ล้าน)
  • ลิทัวเนีย (4 ล้าน)
  • มาซิโดเนีย (2 ล้าน)
  • เนปาล (16 ล้าน)
  • นอร์เวย์ Bookmal (5 ล้าน)
  • เปอร์เซีย
  • โปแลนด์ (44 ล้าน)
  • โปรตุเกส (43 ล้าน)
  • ปัญจาบี (60 ล้าน)
  • โรมาเนีย (26 ล้าน)
  • รัสเซีย (170 ล้าน)
  • เซอร์เบีย (10 ล้าน)
  • สโลวะเกีย (5 ล้าน)
  • สเปน (กว่า 350 ล้าน)
  • สวีเดน (9 ล้าน)
  • ไทย (60 ล้าน)
  • ตุรกี (150 ล้าน)
  • ยูเครน (50 ล้าน)
  • เวียดนาม (68 ล้าน)
  • เวลส์ (575,000)

สังเกตว่า แบซค์ เบ็งกาลี จีน (ฮ่องกง) เอสโตเนีย และเปอร์เซีย เป็นภาษาใหม่ที่ได้รับการสนับสนุนใน GNOME 2.14 จากการทำงานอย่างหนักของนักแปล และที่ควรกล่าวถึงคือ GNOME 2.14 สนับสนุนภาษาอังกฤษแบบบริติช และภาษาอังกฤษแบบแคนาดาด้วย

มีอีกหลายภาษาที่สนับสนุนเพียงบางส่วน โดยมีการแปลข้อความเกินครึ่งหนึ่ง

5 การติดตั้ง GNOME

คุณสามารถทดลองใช้ GNOME 2.14 ได้จาก LiveCD ซึ่งมีซอฟต์แวร์ทั้งหมดที่อยู่ใน GNOME 2.14 รวมอยู่ในซีดีแผ่นเดียว สามารถดาวน์โหลดได้จาก แหล่ง BitTorrent หรือ FTP ของ GNOME

ในการติดตั้งหรือปรับรุ่นเป็น GNOME 2.14 เราขอแนะนำให้คุณติดตั้งแพ็กเกจอย่างเป็นทางการจากผู้ผลิตหรือผู้แจกจ่ายของคุณ ดิสทริบิวชันเด่นๆ จะเตรียม GNOME 2.14 ให้คุณเร็วๆ นี้ และบางดิสทริบิวชันก็อาจมี GNOME 2.14 รุ่นพัฒนาอยู่แล้วก็ได้ คุณสามารถดูรายชื่อของดิสทริบิวชันที่มี GNOME พร้อมทั้งรุ่นล่าสุดที่มีได้จากหน้า Get Footware ของเรา

ถ้าคุณกล้าหาญและอดทน และอยากจะคอมไพล์ GNOME จากซอร์สโค้ดเอง เราขอแนะนำให้ใช้เครื่องมือคอมไพล์อย่างใดอย่างหนึ่งต่อไปนี้ GARNOME สำหรับคอมไพล์จาก tarball ที่ปล่อยออกมา โดยคุณต้องใช้ GARNOME 2.14.x เพื่อคอมไพล์ GNOME 2.14.x นอกจากนี้ ยังมี jhbuild ซึ่งออกแบบมาสำหรับการคอมไพล์ GNOME ล่าสุดจาก CVS นอกจากนี้ คุณสามารถใช้ jhbuild คอมไพล์ GNOME 2.14.x โดยใช้ชุดมอดูล gnome-2-14 ได้

สำหรับท่านที่ต้องการจะคอมไพล์เดสก์ท็อปทั้งหมดด้วยตัวเองจริงๆ คุณต้องคอมไพล์มอดูลต่างๆ ตามลำดับดังนี้: libxml2, libxslt, gnome-common, intltool, scrollkeeper, gtk-doc, glib, libIDL, ORBit2, libbonobo, fontconfig, Render, Xrender, cairo, Xft, pango, atk, shared-mime-info, gtk+, gconf, desktop-file-utils, gnome-mime-data, avahi, dbus, hal, gnome-vfs, audiofile, esound, libgnome, libart_lgpl, libglade, libgnomecanvas, libbonoboui, hicolor-icon-theme, icon-naming-utils, gnome-icon-theme, gnome-keyring, libgnomeui, startup-notification, gtk-engines, gnome-themes, gnome-doc-utils, gnome-desktop, libwnck, libgpg-error, libgcrypt, libtasn1, opencdk, gnutls, libsoup, mozilla, evolution-data-server, gnome-python/pygobject, pycairo, gnome-python/pygtk, gnome-menus, gnome-panel, gnome-session, vte, gnome-terminal, libgtop, gail, libxklavier, gstreamer, liboil, gst-plugins-base, gucharmap, system-tools-backends, gnome-applets, metacity, libgsf, libcroco, libgnomecups, libgnomeprint, libgnomeprintui, librsvg, eel, nautilus, control-center, yelp, bug-buddy, gtksourceview, gnome-python/pyorbit, gnome-python/gnome-python, nautilus-cd-burner, gst-plugins-good, libmusicbrainz, iso-codes, totem, gnome-media, gnome-python/gnome-python-desktop, gedit, eog, gconf-editor, gnome-utils, gnome-system-monitor, gnome-netstatus, gcalctool, zenity, at-spi, libgail-gnome, gnome-speech, gnome-mag, gnopernicus, gok, epiphany, gob2, gnome-games, gnome-user-docs, file-roller, gnome-system-tools, gnome-nettool, vino, gnome-volume-manager, gnome-backgrounds, sound-juicer, gtkhtml, evolution, evolution-webcal, evolution-exchange, ekiga, poppler, evince, dasher, gnome-keyring-manager, deskbar-applet, fast-user-switch-applet, gnome-screensaver, pessulus, sabayon.

รายการดังกล่าว แสดงไว้เพื่อการอ้างอิงเท่านั้น เราขอแนะนำให้ผู้ใดก็ตามที่จะคอมไพล์ GNOME จากซอร์สโค้ด พิจารณาใช้เครื่องมือคอมไพล์ที่กล่าวถึงข้างต้น

6 มุ่งสู่ GNOME 2.16

อย่างที่เคยเป็นมา การพัฒนาไม่ได้หยุดอยู่เพียงแค่ GNOME 2.14 อีกหกเดือนหลังจากวันที่ GNOME 2.14 ออก GNOME 2.16 ก็จะออกตามมา โดยพัฒนาต่อจากฐานอันมหัศจรรย์ที่ได้สร้างไว้ในรุ่นก่อน

สิ่งที่จะมาใน GNOME 2.16 รวมถึง:

  • GTK+ 2.10 ซึ่งรวมเอางานต่างๆ มากมายจาก Project Ridley
  • ชุดตกแต่งที่ใช้ Cairo 1.2
  • การสนับสนุน composite, การกลืนสีแอลฟา, เงาตกกระทบ, หน้าต่างโปร่งใส และอื่นๆ
  • การจัดการการใช้พลังงานที่เชื่อมรวม ผ่าน เครื่องมือจัดการการใช้พลังงานของ GNOME
  • วิดเจ็ตใหม่สำหรับนักพัฒนา ซึ่งจะมีวิดเจ็ตแจ้งเหตุและการพิมพ์

แผนงานพัฒนาอื่นๆ ของ GNOME 2.16 จะปรากฏเร็วๆ นี้ เมื่อนักพัฒนาเริ่มทำงานกัน ติดตามรายละเอียดได้จากหน้า งานพัฒนา

รูปที่ 22เครื่องมือจัดการการใช้พลังงานของ GNOME ซึ่งขึ้นบัญชีไว้แล้วว่าจะมีใน GNOME 2.16

7 การมีส่วนร่วม

การช่วยเหลือ GNOME เป็นประสบการณ์ที่ได้รับผลตอบแทนคุ้มค่า น่าพึงใจ คุณจะได้ร่วมกับผู้คนที่กระตือรือร้นและอุทิศตนจากทุกรูปแบบของชีวิต และจากทั่วทุกมุมโลก ผู้ร่วมสมทบงานกับ GNOME ที่มีฝีมือและเปี่ยมด้วยแรงบันดาลใจ อาจได้พบประตูและโอกาสใหม่ ที่เปิดสู่การเป็นที่ยอมรับ การได้กล่าวปราศรัยในที่ต่างๆ และการจ้างงานราคางาม

ในฐานะผู้ใช้ การมีส่วนร่วมของคุณอาจจะแค่การรายงานข้อผิดพลาดอย่างมีคุณภาพ ในระบบติดตามบั๊กที่เรียกว่า Bugzilla ของเรา แบบฟอร์มช่วยรายงานบั๊กอย่างง่าย จะช่วยพาคุณผ่านขั้นตอนการรายงานบั๊กแรกๆ กับเราได้ นอกจากนี้ คุณอาจจะพิจารณาเข้าร่วมใน Bugsquad ซึ่งเป็นทีมงานสำหรับกำจัดบั๊กโดยเฉพาะ โดยจะช่วยวินิจฉัยและแยกประเภทบั๊กที่ซ้ำกัน เพื่อช่วยนักพัฒนา นอกจากนี้ คุณหรือธุรกิจของคุณ สามารถเข้าเป็น มิตรของ GNOME ได้ด้วย

สำหรับนักพัฒนา ยังมีความคืบหน้าที่น่าตื่นเต้นเกิดขึ้นทุกวันในกลุ่มนักพัฒนาที่คึกคักของเรา กล่าวคือ ระบบอำนวยการใช้งาน การเขียนเอกสาร ประเด็นเรื่องความสะดวกใช้ งานแปล เว็บ การทดสอบ งานกราฟิกส์ งานปรับปรุงประสิทธิภาพ และการพัฒนาเดสก์ท็อปและแพลตฟอร์ม กรุณาอ่านเพิ่มเติมเกี่ยวกับแนวทางการ มีส่วนร่วมกับ GNOME

มาร่วมกับเราสิ จะได้รู้ว่าคุณสามารถสร้างความเปลี่ยนแปลงอะไรบ้าง

ภาคผนวก 1. ผู้จัดทำ

บันทึกประจำรุ่นนี้รวบรวมโดย Davyd Madeley และตรวจแก้โดย Bob Kashsni ด้วยความช่วยเหลือจากชุมชน GNOME ในนามของชุมชน GNOME เราขอขอบคุณด้วยความซาบซึ้ง ต่อนักพัฒนาและผู้ร่วมสมทบทุกคน ที่ทำให้ GNOME รุ่นนี้เกิดขึ้นได้

บันทึกนี้ สามารถแปลเป็นภาษาใดๆ ได้อย่างเสรี หากคุณประสงค์จะแปลเป็นภาษาของคุณ กรุณาติดต่อ โครงการแปล GNOME