บันทึกประจำรุ่น GNOME 2.26

1 เกริ่นนำ

GNOME 2.26 คือรุ่นล่าสุดของ GNOME ระบบเดสก์ท็อปยอดนิยมและหลากแพลตฟอร์ม จุดมุ่งหมายของ GNOME อยู่ที่ความสะดวกใช้ ความเสถียร และการรองรับภาษาทั่วโลกอย่างดีที่สุด รวมทั้งสิ่งอำนวยความสะดวกสำหรับผู้บกพร่องทางกายภาพ GNOME เป็นซอฟต์แวร์เสรีและโอเพนซอร์ส และได้ตระเตรียมเครื่องมือทั่วไปที่ผู้ใช้คอมพิวเตอร์ต้องการจากระบบคอมพิวเตอร์สมัยใหม่ ไม่ว่าจะเป็นอีเมล กรุ๊ปแวร์ เว็บเบราว์เซอร์ การจัดการแฟ้ม ระบบสื่อผสม และเกมต่าง ๆ นอกจากนี้ GNOME ยังเป็นแพลตฟอร์มที่ยืดหยุ่นและทรงพลังสำหรับนักพัฒนาซอฟต์แวร์ ทั้งในระดับเดสก์ท็อปและอุปกรณ์พกพา

รูปที่ 1GNOME 2.26

เดสก์ท็อป GNOME มีการออกรุ่นใหม่ทุก ๆ หกเดือน และนำความสามารถและการปรับปรุงใหม่ ๆ การแก้ไขข้อผิดพลาด และการแปลข้อความ สู่ผู้ใช้ในทุก ๆ รุ่น และ GNOME 2.26 ก็ยังคงออกตามกำหนดนี้ หากต้องการทราบข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับ GNOME และจุดเด่นที่ทำให้ GNOME แตกต่างจากระบบเดสก์ท็อปคอมพิวเตอร์อื่น ๆ (เช่น ความสะดวกใช้ สิ่งอำนวยความสะดวกสำหรับผู้บกพร่องทางกายภาพ การรองรับนานาภาษา และการให้เสรีภาพ) กรุณาอ่านที่หน้า เกี่ยวกับ GNOME ในเว็บไซต์ของเรา

มาร่วมกับเราสิ จะได้รู้ว่าคุณสามารถสร้างความเปลี่ยนแปลงอะไรบ้าง

GNOME 2.26 รวมเอาการปรับปรุงทุกอย่างใน GNOME 2.24 และก่อนหน้านี้ไว้ทั้งหมด คุณสามารถอ่านความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นใน GNOME 2.24 ได้จาก บันทึกประจำรุ่น

2 มีอะไรใหม่สำหรับผู้ใช้

โครงการ GNOME ยังคงมุ่งเน้นที่ผู้ใช้และความสะดวกใช้ต่อไปใน GNOME 2.26 โดยมีการปรับปรุงแก้ไขตามที่ผู้ใช้ร้องขอหลายร้อยรายการใน GNOME รุ่นนี้ ซึ่งไม่อาจกล่าวถึงได้ทั้งหมด เราขอสรุปความสามารถเด่น ๆ ที่ผู้ใช้จะสนใจใน GNOME รุ่นนี้

2.1 การเขียนแผ่นระบบใหม่ที่ครบครัน

ถึงแม้ว่า GNOME รุ่นก่อนหน้านี้ จะมีวิธีที่ง่ายในการเขียนแผ่นซีดีและดีวีดีอยู่แล้ว แต่ GNOME 2.26 ยังได้ขยายไปสู่โปรแกรมเพื่อการสร้างแผ่นโดยเฉพาะ: Brasero

Brasero มอบความสามารถใหม่ที่ไม่มีการรองรับในเครื่องมือเขียนซีดีเดิม เช่น การเขียนซีดีเพลง พร้อมการเล่นตัวอย่างร่องเสียง การตัดแบ่งเพลง และการเกลี่ยความดังของเพลงให้เท่ากัน การรองรับการเขียนหลายวาระ (multisession) อย่างเต็มที่ การตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูล เครื่องมือออกแบบปก และการรองรับแบ็กเอนด์การเขียนแผ่นหลายแบ็กเอนด์

รูปที่ 2Brasero

ผู้ที่ชื่นชอบวิธีการเขียนแผ่นซีดีแบบเดิมที่เคยใช้งานได้อยู่แล้ว ก็ไม่ต้องเรียนรู้ใหม่ ส่วนติดต่อแบบเดิมก็ยังมีอยู่ รายการเมนู โปรแกรม ▸ เครื่องมือระบบ ▸ เครื่องมือเขียนซีดีและดีวีดี ก็ยังคงเปิดโฟลเดอร์ที่คุณสามารถลากข้อมูลเข้ามาได้ แฟ้มอิมเมจซีดี (ISO) ก็ยังคงสามารถเขียนลงแผ่นได้โดยตรงจากโปรแกรมจัดการแฟ้ม โดยการคลิกขวาที่แฟ้มเหมือนเดิม

Brasero เปิดให้โปรแกรมอื่น ๆ ของ GNOME สามารถเพิ่มความสามารถในการเขียนแผ่นได้ ตัวอย่างเช่น โปรแกรมเล่นสื่อในรุ่นนี้ จะสามารถเขียนภาพยนตร์ที่คุณกำลังชมลงใน (S)VCD หรือ DVD ได้

2.2 การใช้แฟ้มร่วมกันที่เรียบง่ายขึ้น

GNOME 2.26 มาพร้อมกับปลั๊กอินสำหรับโปรแกรมจัดการแฟ้ม เพื่อเปิดใช้การใช้แฟ้มร่วมส่วนบุคคลอย่างง่ายผ่าน WebDAV, HTTP และบลูทูท

รูปที่ 3การใช้แฟ้มร่วมกัน

2.3 Evolution พัฒนาการย้ายมาจากวินโดวส์

Evolution ชุดอีเมลและกรุ๊ปแวร์ของ GNOME มีความสามารถสำคัญสองอย่างเพิ่มเข้ามา เพื่อช่วยผู้ใช้ที่จะย้ายมา GNOME จากสภาพแวดล้อมของไมโครซอฟท์วินโดวส์

อย่างแรกคือความสามารถในการนําเข้าโฟลเดอร์ส่วนบุคคลของ Microsoft Outlook (แฟ้ม PST) โดยตรงใน Evolution มีการรองรับ อีเมล ที่อยู่ติดต่อ นัดหมาย ภารกิจ และรายการบันทึกประจำวัน ก่อนหน้านี้ แฟ้มดังกล่าวต้องนำเข้าผ่านทางโปรแกรมภายนอก เช่น Thunderbird บนวินโดวส์

อย่างที่สอง คือการรองรับโพรโทคอล MAPI ของ Microsoft Exchange โพรโทคอลนี้เป็นโพรโทคอลที่ Microsoft Outlook ใช้ในการสื่อสารกับ Exchange ก่อนหน้านี้ Evolution รองรับเฉพาะโพรโทคอล SOAP ของ Exchange เท่านั้น ซึ่งไม่ได้มีในทุกเซิร์ฟเวอร์ของ Exchange การรองรับนี้ถือเป็นการปรับปรุงการเชื่อมรวมกับเซิร์ฟเวอร์ Exchange ของ Evolution ขนานใหญ่ทีเดียว

2.4 การปรับปรุงโปรแกรมเล่นสื่อ

โปรแกรมเล่นสื่อ ของ GNOME ยังคงได้รับการปรับปรุงให้มีคุณสมบัติใหม่หลายอย่าง

เครื่องเล่นสื่อหลายตัว จะมีตัวเลือกในการแบ่งปันเนื้อหาที่เก็บไว้ ผ่านทางโพรโทคอล UPnP หรือไม่ก็ DLNA ด้วยลูกข่าย DLNA/UPnP ของ Coherence ทำให้สามารถท่องดูและเล่นเนื้อหานี้จากภายในโปรแกรมเล่นสื่อของ GNOME ได้แล้ว

ขณะที่โปรแกรมเล่นสื่อของ GNOME มีความสามารถในการแสดงบทบรรยายภาพยนตร์ แต่คุณก็ยังจำเป็นต้องมีข้อมูลบทบรรยายด้วย แต่ใน GNOME 2.26 ไม่มีข้อจำกัดนี้แล้ว ด้วยปลั๊กอินดาวน์โหลดบทบรรยายตัวใหม่ โปรแกรมเล่นสื่อจะหาบทบรรยายให้คุณโดยอัตโนมัติ

2.5 การปรับความดังเสียงที่เชื่อมรวมเข้ากับ PulseAudio

PulseAudio เป็นกรอบงานใหม่สำหรับจัดเส้นทางและผสมสัญญาณเสียงเข้า/ออก ที่มีการใช้งานโดยแพลตฟอร์มซอฟต์แวร์เสรีหลายแพลตฟอร์ม มีการรองรับความสามารถอย่างเช่น การกำหนดความดังเฉพาะโปรแกรม และการเสียบแล้วใช้ (plug-and-play) พร้อมการจัดเส้นทางสัญญาณแบบพลวัต (เช่น การ์ดเสียงแบบ USB)

GNOME 2.26 สามารถใช้ประโยชน์จากความสามารถเหล่านี้ได้ ด้วยระบบปรับความดังเสียงตัวใหม่ และเครื่องมือ ปรับแต่งเสียง ตัวใหม่

รูปที่ 4การตั้งค่าเสียงเข้าของเครื่องมือปรับความดังเสียง

เครื่องมือ ปรับแต่งเสียง เชื่อมรวมการเลือกอุปกรณ์เสียง ความดังเสียงของโปรแกรม ความดังเสียงเตือน และชุดเสียงเตือนเข้าด้วยกันในที่เดียว

สำหรับระบบที่ไม่มี PulseAudio ก็ยังคงมีเครื่องมือผสมเสียงแบบเก่า (GStreamer) ให้ โดยมีการเพิ่มเติมแท็บเลือกชุดเสียงให้ด้วย เพื่อให้ทัดเทียมกับส่วนติดต่อแบบใหม่

2.6 การรองรับหลายจอภาพพร้อมเครื่องฉาย

เครื่องมือ ปรับแต่งจอแสดงผล ในรุ่นนี้ มีการแสดงข้อมูลที่ดีกว่าเกี่ยวกับจอภาพหรือเครื่องฉายที่คุณได้ต่อเข้ามา ทำให้ตั้งค่าจอภาพของคุณในรูปแบบต่าง ๆ ได้ง่ายกว่าเดิม

รูปที่ 5การตั้งค่าจอแสดงผล

เครื่องมือ ปรับแต่งจอแสดงผล ยังได้ปรับปรุงให้ทำงานได้ปลอดภัยยิ่งขึ้นแม้กับไดรเวอร์กราฟิกส์ที่ไม่สมบูรณ์ เนื่องจากมีการแสดงกล่องโต้ตอบถามยืนยันหลังจากที่คุณเปลี่ยนการตั้งค่าจอภาพ และจะคืนสภาพการตั้งค่าของคุณสู่ค่าล่าสุดที่ใช้การได้ แม้เครื่องจะตายกลางคันในขณะที่กำลังตั้งค่าจอภาพ

2.7 การสื่อสารที่เกือบจะเป็นโทรจิต

โปรแกรมข้อความด่วน Empathy ซึ่งใช้กรอบงานสื่อสาร Telepathy ได้ก้าวหน้าไปอีกขั้น กับความสามารถในการถ่ายโอนแฟ้ม ซึ่งรองรับโดย Telepathy (สำหรับ Jabber และ XMPP ที่เชื่อมตรงเท่านั้นในตอนนี้), การรองรับการเชิญเข้าห้องสนทนา, ชุดเสียงและการแจ้งเหตุ และการใช้งาน VoIP ที่ราบรื่นขึ้น

รูปที่ 6การเรียกสายแบบวีดิทัศน์ใน Empathy

สามารถใช้ VoIP ด้วย Theora และ Speex codec ที่เป็นซอฟต์แวร์เสรีได้แล้วในรุ่นนี้ โดยผ่าน Jingle ไปยังโปรแกรมลูกข่ายที่รองรับ

นอกจากนี้ ยังมีการเพิ่มการรองรับชุดเสียงและกรอบคำพูดแจ้งเตือนด้วย

2.8 ตำแหน่งที่ตั้งใน Epiphany

Epiphany เว็บเบราว์เซอร์ของ GNOME มีความสามารถใหม่ที่น่าตื่นเต้นเกี่ยวกับการปรับปรุงแถบตำแหน่งที่ตั้ง คล้ายกับ Awesome Bar ที่เป็นที่นิยมกันใน Firefox 3.0

รูปที่ 7แถบตำแหน่งที่ตั้งแบบใหม่

2.9 การเชื่อมรวมกับเครื่องอ่านลายนิ้วมือ

GNOME 2.26 มีการเชื่อมรวมกับบริการอ่านลายนิ้วมือ fprintd แล้ว เพื่อให้ผู้ใช้สามารถใส่ลายนิ้วมือสำหรับใช้ในการยืนยันตัวบุคคลได้

ถ้าระบบถูกตั้งค่าให้ใช้การยืนยันตัวบุคคลด้วยลายนิ้วมือได้ ผู้ใช้สามารถใส่ลายนิ้วมือผ่านทางเมนู ระบบ ▸ ปรับแต่งพื้นโต๊ะ ▸ เกี่ยวกับฉัน บนพาเนลได้

2.10 แต่เดี๋ยวก่อน ยังมีอีก…

นอกจากการเปลี่ยนแปลงใหญ่ ๆ แล้ว ก็ยังมีรายการตกแต่งต่อเติมเล็ก ๆ น้อย ๆ หลายอย่าง ที่มีขึ้นใน GNOME ทุกรุ่น

  • โปรแกรมจัดการแฟ้มสามารถขอให้ PackageKit ติดตั้งแพกเกจเพื่อรองรับแฟ้มที่คุณต้องการเปิดได้
  • ในรุ่นนี้ ต้องใช้ปุ่มประกอบ (ปกติจะเป็น Alt) ในการลากเพื่อย้ายตำแหน่งพาเนลบนหน้าจอแล้ว (เป็นปุ่มประกอบปุ่มเดียวกับที่ใช้ลากหน้าต่างไปรอบ ๆ ด้วยการคลิกกลางหน้าต่าง)
  • วิดเจ็ตช่องป้อนรหัสผ่านจะเตือนถ้าคุณกด Caps Lock อยู่
  • การเปลี่ยนชนิดของวิธีป้อนข้อความโดยใช้เมนูคลิกขวาในวิดเจ็ตช่องป้อนข้อความในรุ่นนี้ จะมีผลเฉพาะวิดเจ็ตเท่านั้น แทนที่จะมีผลกับทุกวิดเจ็ตในโปรแกรม (การเปลี่ยนนี้ แยกต่างหากจากการเลือกวิธีป้อนข้อความปริยาย หรือผังแป้นพิมพ์)
  • ในรุ่นนี้ วิธีป้อนข้อความสามารถใช้งานกับวิดเจ็ตช่องป้อนรหัสผ่านแล้ว
  • Deskbar ในรุ่นนี้ รองรับปลั๊กอิน OpenSearch แล้ว
  • ลูกเล่นใหม่ ๆ เช่น พาเนลเลื่อนเข้าและออกขณะเข้าและออกจากระบบ และการหรี่เปิด-ปิดพื้นหลังพื้นโต๊ะ

3 มีอะไรใหม่เกี่ยวกับเทคโนโลยีสิ่งอำนวยความสะดวก

GNOME มีความปรารถนาที่จะทำให้ซอฟต์แวร์ใช้งานได้สำหรับทุกคน รวมทั้งผู้ใช้และนักพัฒนาที่มีความบกพร่องทางกายภาพ ซึ่งใช้คอมพิวเตอร์ได้ลำบากด้วย เพื่อช่วยบุคคลเหล่านี้ GNOME จึงได้ตั้งโครงการสิ่งอำนวยความสะดวกของ GNOME (GNOME Accessibility Project) และพัฒนากรอบงานเทคโนโลยีสิ่งอำนวยความสะดวก ซึ่งตอนนี้ได้กลายเป็นมาตรฐานบนเดสก์ท็อปเสรีไปแล้ว

GNOME 2.26 ยังคงพัฒนาต่อไปบนฐานความเชื่อถือที่ได้รับสำหรับสิ่งอำนวยความสะดวกของเรา โดยมีการปรับปรุงหลายรายการ

3.1 เครื่องมืออ่านหน้าจอ Orca

โปรแกรมอ่านหน้าจอ Orca มีงานจำนวนมากที่ได้ทำไป เพื่อลดข้อบกพร่องของโปรแกรมและเพื่อปรับปรุงประสิทธิภาพ ด้วยรายการแก้ไขบั๊กที่มากกว่า 160 รายการใน GNOME 2.26 บางส่วนของการปรับปรุงได้แก่:

  • ปรับปรุงการรองรับ ARIA ใน Firefox
  • เพิ่มความเข้าใจวิธีการออกเสียงของ WikiWords และ mnemonics
  • สามารถตั้งค่าระดับเสียงพูด อัตราเร็ว และความดังได้ขณะใช้งาน จากช่องการปรับแต่งค่า
  • ปรับปรุงประสิทธิภาพและความเสถียร

4 มีอะไรใหม่สำหรับนักพัฒนา

รายการเปลี่ยนแปลงต่อไปนี้สำคัญสำหรับนักพัฒนาที่ใช้แพลตฟอร์มพัฒนา GNOME 2.26 ถ้าคุณไม่ได้สนใจรายการเปลี่ยนแปลงสำหรับนักพัฒนา ก็สามารถข้ามไปที่ หัวข้อ 5 การรองรับนานาภาษา ได้

นอกจากชุดเดสก์ท็อปแล้ว GNOME 2.26 ยังเป็นรุ่นล่าสุดของแพลตฟอร์มพัฒนา GNOME ซึ่งเป็นชุดของไลบรารีที่มี API และ ABI คงที่ ภายใต้สัญญาอนุญาต GNU LGPL ที่สามารถใช้สำหรับการพัฒนาโปรแกรมข้ามแพลตฟอร์มได้

แก้ไขการใช้ไลบารีที่ไม่สนับสนุนให้ใช้

ตั้งแต่ GNOME 3.0 เป็นต้นไป ส่วนของ GNOME ที่ไม่สนับสนุนให้ใช้หลายส่วนจะถูกตัดออกไป ซึ่งรวมถึงไลบรารีหลายตัวที่เฉพาะเจาะจงสำหรับ GNOME เช่น libgnome, libgnomeui, libgnomeprint, libgnomeprintui, libglade และ libgnomevfs สำหรับโปรแกรมที่เป็นส่วนหนึ่งของเดสก์ท็อป GNOME มีการดำเนิน งานเก็บกวาด จำนวนมาก เพื่อให้มั่นใจว่าไม่มีการใช้โค้ดที่ไม่สนับสนุนให้ใช้อยู่ ซึ่งจะช่วยให้การเปลี่ยนแปลงไปสู่ GNOME 3.0 ราบรื่นที่สุด

เราขอกระตุ้นให้นักพัฒนาต่าง ๆ ดำเนินตามตัวอย่างนี้ในโปรแกรมของท่านด้วย นอกจากนี้ สำหรับนักพัฒนา (หรือผู้ที่กำลังจะเป็นนักพัฒนา) ที่ปรารถนาจะช่วยเรา ก็มีหน้าวิกิ เป้าหมาย GNOME รวบรวมรายการงานต่าง ๆ ที่ต้องทำอยู่

4.1 GTK+ 2.16

GTK+ 2.16 เป็นรุ่นล่าสุดของชุดเครื่องมือ GTK+ ซึ่งเป็นหัวใจหลักของ GNOME ใน GTK+ 2.16 นี้ มีความสามารถใหม่สำหรับนักพัฒนา พร้อมรายการแก้ไขบั๊กอย่างเข้มข้น รวมทั้งงานทำความสะอาดสำหรับ GTK+ 3.0 ที่กำลังจะมาด้วย

วิดเจ็ต GtkEntry สามารถแสดงไอคอนที่ด้านหน้าหรือหลังของช่องป้อน (ขึ้นอยู่กับทิศทางข้อความในโลแคลของคุณ) โดยไอคอนเหล่านี้มีตัวเลือกให้เน้นให้สว่างได้และคลิกได้

รูปที่ 8ไอคอนใน GtkEntry

วิดเจ็ต GtkEntry ในรุ่นนี้ สามารถใช้แสดงแถบบอกความคืบหน้าได้

รูปที่ 9GtkEntry กับแถบบอกความคืบหน้า

มีส่วนติดต่อใหม่ GtkActivatable เพิ่มเข้ามาสำหรับวิดเจ็ตที่สามารถเชื่อมต่อกับ GtkAction ได้

4.2 การเข้าถึง API สำหรับการเขียนแผ่น

libbrasero-media ได้จัดเตรียม API ที่ใช้เข้าถึงโครงสร้างพื้นฐานสำหรับการเขียนแผ่นของ GNOME ตัวอย่างของการใช้งานนี้ สามารถพบได้ในโปรแกรมเล่นสื่อของ GNOME ซึ่งจะมีปลั๊กอินในการเขียนดีวีดีและวีซีดีจากภาพยนตร์ที่เปิด

4.3 การเข้าถึง API ของ Evince

มีการสร้างไลบารีใหม่ libevview เพื่อตระเตรียมวิดเจ็ต EvView ซึ่งใช้ใน Evince เพื่อให้โปรแกรมอื่น ๆ สามารถฝังองค์ประกอบการแสดงเอกสารของ Evince ได้

libevdocument เป็นไลบารีที่ทำให้สามารถพัฒนาแบ็กเอนด์เอกสารจากภายนอกสำหรับใช้กับ Evince ได้ โดยไม่ต้องเพิ่มเข้าในซอร์สของ Evince โดยตรง

ทั้งสองไลบารีมีส่วนเชื่อมต่อกับไพธอนเรียบร้อยแล้วใน gnome-python-desktop

4.4 แอนจูตา

ชุดพัฒนาเบ็ดเสร็จ แอนจูตา ได้มีการปรับปรุงอย่างดีในบางเรื่องใน GNOME 2.26 สิ่งที่สำคัญที่สุดคือกลไลการจัดการสัญลักษณ์ที่เขียนใหม่ทั้งหมด พร้อมระบบที่คั่นหน้าใหม่ ที่ทำให้การท่องไปในโค้ดรวดเร็วขึ้นมาก นอกจากนี้ ยังสามารถตรวจสอบไลบรารีต่าง ๆ โดยใช้ pkg-config เพื่อการเติมเต็มโค้ดและแสดงคำแนะนำการเรียกได้ด้วย

นอกจากนั้น การเชื่อมรวมกับระบบควบคุมรุ่นและเครื่องมือออกแบบส่วนติดต่อ Glade ยังได้ก้าวหน้าไปอีกขั้น โดยในรุ่นนี้ แผนภาพต้นไม้ของแฟ้มจะแสดงไอคอนสถานะของทุกแฟ้มในโครงการที่ใช้ระบบควบคุมรุ่น Subversion หรือ Git นอกจากนี้ ยังสามารถสร้างฟังก์ชันเรียกกลับจาก Glade ได้ รวมทั้งมีการรองรับแฟ้ม GtkBuilder แล้ว

และเพื่อการรองรับแพลตฟอร์ม GNOME Mobile ที่ดีขึ้น ยังได้เพิ่มการดีบั๊กจากระยะไกลโดยใช้ gdbserver และการรองรับ Scratchbox (รุ่น 2) ด้วย

5 การรองรับนานาภาษา

ด้วยการทำงานของสมาชิกทั่วโลกของ โครงการแปล GNOME ทำให้ GNOME 2.26 รองรับภาษาต่าง ๆ ถึง 48 ภาษา (ที่มีการแปลข้อความอย่างน้อย 80 เปอร์เซ็นต์) รวมทั้งมีเอกสารคู่มือสำหรับผู้ใช้และผู้ดูแลระบบในหลายภาษาด้วย

ภาษาที่รองรับ:

  • กรีก
  • กัณณาท
  • กาลิเชียน
  • คาตะลาน
  • คุชราตี
  • จีน (ฮ่องกง)
  • จีน (ไต้หวัน)
  • จีนกลาง
  • ญี่ปุ่น
  • ดัตช์
  • ตุรกี
  • ทมิฬ
  • นอร์เวย์แบบบุคมอล
  • บัลแกเรีย
  • ปัญจาบี
  • ฝรั่งเศส
  • ฟินแลนด์
  • มลยาฬัม
  • มาซิโดเนีย
  • มาราฐี
  • ยูเครน
  • รัสเซีย
  • ลิทัวเนีย
  • สวีเดน
  • สเปน
  • สโลวีเนีย
  • อังกฤษ (แบบสหรัฐ, สหราชอาณาจักร)
  • อัสสมี
  • อารบิก
  • อิตาลี
  • ฮังการี
  • ฮินดี
  • ฮีบรู
  • เกาหลี
  • เช็ก
  • เดนมาร์ก
  • เตลุคู
  • เบ็งกาลี (อินเดีย)
  • เยอรมัน
  • เวียดนาม
  • เอสโตเนีย
  • แบ็ซค์
  • โปรตุเกส
  • โปรตุเกสบราซิล
  • โปแลนด์
  • โรมาเนีย
  • โอริยา
  • ไทย

และยังมีอีกหลายภาษาที่รองรับเพียงบางส่วน โดยมีการแปลข้อความเกินครึ่งหนึ่ง

การแปลชุดซอฟต์แวร์ที่ใหญ่โตอย่าง GNOME เป็นภาษาหนึ่ง ๆ เป็นงานที่หนักหนาสาหัสมาก แม้สำหรับทีมงานที่อุทิศเวลาอย่างเต็มที่ แต่ใน GNOME รุ่นนี้ มีสองภาษาที่ได้ทุ่มเทกำลังอย่างน่าชื่นชม จนสามารถเพิ่มความสมบูรณ์ของคำแปลขึ้นจากรุ่นก่อนมากกว่า 20% ขอแสดงความยินดีกับทีมภาษาโรมาเนีย และโอริยา สำหรับความขยันขันแข็งของพวกคุณ และขอแสดงความยินดีกับทีมภาษากัณณาท เตลุคู โรมาเนีย อัสสมี และโอริยา ที่ได้ผ่านระดับ 80% แล้วในเวลานี้

ดูสถิติและข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ เว็บสถานะงานแปล ของ GNOME

6 การติดตั้ง GNOME

คุณสามารถทดลองใช้ GNOME 2.26 ได้จาก LiveCD ซึ่งมีซอฟต์แวร์ทั้งหมดที่อยู่ใน GNOME 2.26 รวมอยู่ในซีดีแผ่นเดียว คุณสามารถใช้ LiveCD บูตเครื่องโดยตรง โดยไม่ต้องติดตั้งอะไรเลยก็ได้ LiveCD สามารถดาวน์โหลดได้จาก แหล่ง BitTorrent ของ GNOME

ในการติดตั้งหรือปรับรุ่นเป็น GNOME 2.26 เราขอแนะนำให้คุณติดตั้งแพกเกจอย่างเป็นทางการจากผู้ผลิตหรือผู้แจกจ่ายของคุณ ดิสทริบิวชันหลัก ๆ จะเตรียม GNOME 2.26 ให้คุณเร็ว ๆ นี้ และบางดิสทริบิวชันก็อาจมี GNOME 2.26 รุ่นพัฒนาอยู่แล้วก็ได้ คุณสามารถดูรายชื่อของดิสทริบิวชันที่มี GNOME พร้อมทั้งรุ่นล่าสุดที่มีได้จากหน้า Get Footware ของเรา

ถ้าคุณกล้าและอดทนพอ และอยากจะคอมไพล์ GNOME จากซอร์สโค้ดเอง เราขอแนะนำให้ใช้เครื่องมือคอมไพล์อย่างใดอย่างหนึ่ง คือ GARNOME สำหรับคอมไพล์จาก tarball ที่ปล่อยออกมา โดยคุณต้องใช้ GARNOME 2.26.x เพื่อคอมไพล์ GNOME 2.26.x นอกจากนี้ ยังมี JHBuild ซึ่งออกแบบมาสำหรับการคอมไพล์ GNOME ล่าสุดจาก SVN โดยคุณสามารถใช้ JHBuild คอมไพล์ GNOME 2.26.x โดยใช้ชุดมอดูล gnome-2.26 ได้

ถึงแม้การคอมไพล์ GNOME โดยตรงจาก tarball จะทำได้เหมือนกัน แต่เราขอแนะนำให้ใช้ชุดเครื่องมือคอมไพล์ข้างต้นจะดีกว่า

7 มุ่งสู่ GNOME 2.28

การพัฒนาไม่ได้หยุดอยู่เพียงแค่ GNOME 2.26 เท่านั้น งานพัฒนาสำหรับ GNOME 2.28 ได้เริ่มขึ้นแล้ว โดยมีกำหนดออกในอีกหกเดือนหลังจากที่ GNOME 2.26 ออก

แผนงาน GNOME จะให้รายละเอียดแผนงานของนักพัฒนาสำหรับการออกรุ่นหน้า และ กำหนดการออก GNOME 2.28 จะประกาศเร็ว ๆ นี้

8 มาเป็นเพื่อนกับ GNOME!

ในระหว่างวัฏจักรการพัฒนารุ่น 2.26 มูลนิธิ GNOME ยังได้เปิดตัวโปรแกรมเพื่อน GNOME โปรแกรมใหม่ด้วย โดยผู้สนับสนุนสามารถลงทะเบียนเพื่อช่วยบริจาคให้กับมูลนิธิ GNOME เดือนละ 10 ดอลลาร์

เพื่อน GNOME คือวิธีการที่บุคคลสามารถให้การสนับสนุนพันธกิจของโครงการ GNOME ในการสร้างเดสก์ท็อปที่เสรีและโอเพนซอร์สสำหรับทุกคน ไม่ว่าจะมีความสามารถในระดับไหน แม้ไม่มีการโฆษณาหรือการออกรณรงค์ มูลนิธิก็ยังได้รับเงินทุนมาจากทุกแห่ง ตั้งแต่ 6,000 ถึง 20,000 ดอลลาร์ต่อปีจากผู้เอื้อเฟื้อ เงินจำนวนนี้ ได้นำไปสมทบทุนสำหรับการจัด hackfest, กิจกรรมในถิ่นต่าง ๆ และโปรแกรมต่าง ๆ ที่ได้ทำให้โครงการ GNOME สามารถสร้างซอฟต์แวร์เดสก์ท็อปที่รองรับนานาภาษา อำนวยความสะดวกต่อผู้บกพร่องทางกายภาพ และใช้งานง่าย ทั้งสำหรับเดสก์ท็อปธรรมดาและสำหรับอุปกรณ์เคลื่อนที่

ขอเชิญเข้าชม เว็บไซต์เพื่อน GNOME ได้

9 ผู้จัดทำ

บันทึกประจำรุ่นนี้รวบรวมโดย Davyd Madeley ด้วยความช่วยเหลือจากชุมชน GNOME ฉบับแปลไทยแปลโดย เทพพิทักษ์ การุญบุญญานันท์, อิสริยะ ไพรีพ่ายฤทธิ์ และ อาคม โชติพันธวานนท์ ในนามของชุมชน GNOME เราขอขอบคุณด้วยความซาบซึ้ง ต่อนักพัฒนาและผู้ร่วมสมทบทุกคน ที่ทำให้ GNOME รุ่นนี้เกิดขึ้นได้

บันทึกนี้ สามารถแปลเป็นภาษาใด ๆ ได้อย่างเสรี หากคุณประสงค์จะแปลเป็นภาษาของคุณ กรุณาติดต่อ โครงการแปล GNOME