บันทึกประจำรุ่น GNOME 2.24

1 เกริ่นนำ

GNOME 2.24 คือรุ่นล่าสุดของ GNOME ระบบเดสก์ท็อปยอดนิยมและหลากแพลตฟอร์ม จุดมุ่งหมายของ GNOME อยู่ที่ความสะดวกใช้ ความเสถียร และการรองรับภาษาทั่วโลกอย่างดีที่สุด รวมทั้งสิ่งอำนวยความสะดวกสำหรับผู้บกพร่องทางกายภาพ GNOME เป็นซอฟต์แวร์เสรีและโอเพนซอร์ส และได้ตระเตรียมเครื่องมือทั่วไปที่ผู้ใช้คอมพิวเตอร์ต้องการจากระบบคอมพิวเตอร์สมัยใหม่ ไม่ว่าจะเป็นอีเมล กรุ๊ปแวร์ เว็บเบราว์เซอร์ การจัดการแฟ้ม ระบบสื่อผสม และเกมต่าง ๆ นอกจากนี้ GNOME ยังเป็นแพลตฟอร์มที่ยืดหยุ่นและทรงพลังสำหรับนักพัฒนาซอฟต์แวร์ ทั้งในระดับเดสก์ท็อปและอุปกรณ์พกพา

รูปที่ 1GNOME 2.24

เดสก์ท็อป GNOME มีการออกรุ่นใหม่ทุก ๆ หกเดือน และนำความสามารถและการปรับปรุงใหม่ ๆ การแก้ไขข้อผิดพลาด และการแปลข้อความ สู่ผู้ใช้ในทุก ๆ รุ่น และ GNOME 2.24 ก็ยังคงออกตามกำหนดนี้ หากต้องการทราบข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับ GNOME และจุดเด่นที่ทำให้ GNOME แตกต่างจากระบบเดสก์ท็อปคอมพิวเตอร์อื่น ๆ (เช่น ความสะดวกใช้ สิ่งอำนวยความสะดวกสำหรับผู้บกพร่องทางกายภาพ การรองรับนานาภาษา และการให้เสรีภาพ) กรุณาอ่านที่หน้า เกี่ยวกับ GNOME ในเว็บไซต์ของเรา

มาร่วมกับเราสิ จะได้รู้ว่าคุณสามารถสร้างความเปลี่ยนแปลงอะไรบ้าง

GNOME 2.24 รวมเอาการปรับปรุงทุกอย่างใน GNOME 2.22 และก่อนหน้านี้ไว้ทั้งหมด คุณสามารถอ่านความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นใน GNOME 2.22 ได้จาก บันทึกประจำรุ่น

2 มีอะไรใหม่สำหรับผู้ใช้

โครงการ GNOME ยังคงมุ่งเน้นที่ผู้ใช้และความสะดวกใช้ต่อไปใน GNOME 2.24 โดยมีการปรับปรุงแก้ไขตามที่ผู้ใช้ร้องขอหลายร้อยรายการใน GNOME รุ่นนี้ ซึ่งไม่อาจกล่าวถึงได้ทั้งหมด เราขอสรุปความสามารถเด่น ๆ ที่ผู้ใช้จะสนใจใน GNOME รุ่นนี้

2.1 ความสัมพันธ์ไม่ขาดตอน

GNOME 2.24 ได้ประกาศรวมโปรแกรมข้อความทันใจที่ใช้กรอบงานสื่อสาร Telepathy เป็นฐานเข้าเป็นส่วนหนึ่งของชุดเดสก์ท็อป

รูปที่ 2โปรแกรมข้อความทันใน Empathy

Empathy ยังรองรับการประชุมทางเสียงและทางภาพผ่าน XMPP/SIP อย่างที่มีในอุปกรณ์โนเกีย N800/N810 ด้วย (ในส่วนของภาพ ต้องติดตั้งตัวลงรหัส/ถอดรหัส H.263 สำหรับ GStreamer ด้วย) Empathy สามารถใช้ประกอบกับ Ekiga ซึ่งเป็นโปรแกรม SIP ทั้งเสียงและภาพของ GNOME ได้เป็นอย่างดี (ดู หัวข้อ 2.3 Ekiga 3.0)

Telepathy เป็นกรอบงานทั่วไปสำหรับโปรแกรมประยุกต์ที่จะใช้ความสามารถเกี่ยวกับข้อความทันใจ ซึ่งสามารถใช้โพรโทคอลหลายแบบที่นิยมใช้กัน รวมถึง Jabber/XMPP, Google Talk, MSN Messenger และการสนทนาในเครือข่ายเฉพาะที่ Bonjour/Rendezvous ของแอปเปิล

โปรแกรมใด ๆ ก็สามารถเปิดวาระการใช้ข้อความทันใจได้ นอกจากจะมีโปรแกรม Empathy มาให้แล้ว GNOME 2.24 ยังเตรียมไลบรารีที่นักพัฒนาสามารถใช้เพิ่มข้อมูลสถานะการอยู่/ไม่อยู่ของผู้ใช้ การถ่ายโอนแฟ้ม หรือสร้างซ็อกเก็ต (ที่เรียกว่า Tube) สำหรับการทำงานร่วมกันและเล่นเกมผ่านอินเทอร์เน็ตได้ ดูข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับการใช้เทคโนโลยีนี้ในโปรแกรมของคุณได้ที่ หัวข้อ 4.4 ไลบรารีข้อความทันใจ

2.2 ติดตามการใช้เวลาของคุณได้ดีขึ้น

สำหรับคนในวงธุรกิจหลายคน การติดตามการใช้เวลากับแต่ละโครงการและกับลูกค้าแต่ละคนมีความสำคัญมาก แต่ละคนก็มีวิธีการจัดการของตัวเอง ตั้งแต่การจดบันทึกไปจนถึงการกะประมาณเอา ซึ่งเป็นงานที่น่าเบื่ออย่างเหลือเชื่อ แต่ในโลกทุกวันนี้ เกือบทุกอย่างที่คุณทำจะข้องเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง GNOME จึงได้เพิ่มแอพเพล็ตที่ช่วยให้คุณติดตามการใช้เวลาของคุณได้ง่ายขึ้น

รูปที่ 3จดงานของคุณอย่างเร็ว

พาเนลจะแสดงงานที่คุณกำลังทำอยู่ และเวลาที่ใช้ เมื่อคลิกที่ปุ่ม คุณจะสามารถเปลี่ยนกิจกรรม พร้อมทั้งดูกิจกรรมต่าง ๆ ที่คุณได้ทำมาในวันนี้ได้ และถ้าคุณต้องการ ก็สามารถกำหนดให้นาฬิกาหยุดจับเวลาได้เมื่อไม่มีการตอบสนองกับคอมพิวเตอร์

กิจกรรมต่าง ๆ สามารถจำแนกได้ตามเกณฑ์ที่คุณต้องการ ไม่ว่าจะเป็นตามชนิดของกิจกรรม ตามชื่อลูกค้า หรือตามความชอบ/ไม่ชอบงานของคุณก็ได้ นอกจากนี้ คุณยังสามารถดูและแก้ไขบันทึกกิจกรรมของคุณได้ รวมทั้งแทรกกิจกรรมที่พลาดบันทึกไป และดูกราฟรายวัน รายสัปดาห์ และรายเดือน เพื่อดูว่าคุณใช้เวลากับอะไรไปมากที่สุด

2.3 Ekiga 3.0

Ekiga เป็นโปรแกรมประชุมด้วยเสียง/ภาพผ่าน SIP สำหรับ GNOME เราภูมิใจที่จะประกาศออกรุ่น Ekiga 3.0 เป็นส่วนหนึ่งของ GNOME 2.24

รูปที่ 4Ekiga 3.0

นอกจากการติดต่อแบบใหม่ที่ใช้สมุดโทรศัพท์และการอยู่/ไม่อยู่ของผู้ติดต่อของคุณเป็นศูนย์กลางแล้ว Ekiga 3.0 ยังรองรับสถานะอยู่/ไม่อยู่ผ่าน SIP รองรับการเฝ้าสังเกตสาย PBX รองรับตัวลงรหัสและถอดรหัสมากขึ้น (H.264, H.263+, MPEG-4 และ Theora) รองรับการเร่งการแสดงผลจอภาพ รองรับโหมดเต็มจอ และมีรายการปรับปรุงเกี่ยวกับ SIP มากมาย เพื่อการประชุมที่คงทนไม่ขาดตอน

2.4 การจัดการแฟ้ม

นอกเหนือจากมุมมองแบบไอคอนและแบบรายชื่อแล้ว GNOME 2.24 ยังได้เพิ่มมุมมองแบบกระชับอีกแบบหนึ่ง ซึ่งเป็นแบบที่นิยมบนเดสก์ท็อปอื่น ๆ หลายตัว คุณสามารถเลือกมุมมองนี้ได้โดยเลือกเมนู มุมมอง ▸ กระชับ (หรือใช้ปุ่มลัด Control+3)

รูปที่ 5มุมมองแฟ้มสามแบบ: แบบไอคอน, แบบรายชื่อ และแบบกระชับ

ขนาดของไอคอนในมุมมองแบบกระชับ สามารถปรับได้เหมือนในมุมมองแบบไอคอนและแบบรายชื่อ โดยใช้ตัวเลือกการแสดงขยายในเมนู มุมมอง

โหมด ท่องดู ของโปรแกรมจัดการแฟ้มรุ่นนี้รองรับการใช้แท็บแล้ว เพื่อให้สามารถสลับไปมาระหว่างไดเรกทอรีต่าง ๆ ได้ภายในหน้าต่างเดียว

รูปที่ 6การรองรับแท็บในโหมดท่องดู

ระบบแฟ้มรุ่นใหม่ ๆ ทุกวันนี้แทบจะสามารถใช้อักขระใด ๆ กับชื่อแฟ้มก็ได้ แต่โชคไม่ดีที่ยังใช้ไม่ได้กับ FAT ซึ่งนิยมใช้กันทั่วไปในแฟลชไดรว์ USB และเครื่องเล่นเพลงพกพา โดยไม่สามารถใช้เครื่องหมายวรรคตอนหลาย ๆ ตัวที่ใช้บ่อยในชื่อแฟ้มได้ GNOME 2.24 จะตรวจสอบเมื่อคุณคัดลอกแฟ้มที่มีชื่อที่ใช้อักขระต้องห้ามสำหรับระบบแฟ้มนั้น ๆ และแปลงอักขระเหล่านั้นเป็น "_" ให้โดยอัตโนมัติ ทำให้คุณไม่ต้องเปลี่ยนชื่อเอง

การเติมเต็มชื่อแฟ้มอัตโนมัติ (การเติมโดยกด "tab") ก็มีการปรับปรุงใน GNOME 2.24 ด้วย การเติมเต็มชื่อแฟ้มในแถบตำแหน่งโดยใช้ปุ่ม Tab จะเร็วขึ้น และเข้าใจง่ายขึ้น นอกจากนี้ ยังสามารถเติมเต็มส่วนย่อยใด ๆ ของพาธได้ และจะมีการตอบสนองให้ทราบเมื่อไม่มีชื่อแฟ้มที่ตรงด้วย

2.5 ทำงานได้มากขึ้นกับเดสก์บาร์

เดสก์บาร์ใน GNOME 2.24 ได้เพิ่มปลั๊กอินใหม่ ๆ หลายอย่างที่น่าตื่นเต้น คือ เครื่องคิดเลข, การค้น Google (รวมทั้ง Google Code), Yahoo! และคำแนะนำจากวิกิพีเดีย รวมถึงการแปะประกาศใน Twitter และ identi.ca ด้วย

รูปที่ 7เดสก์บาร์

ความสามารถใหม่อีกอย่างหนึ่ง คือการดาวน์โหลดและติดตั้งปลั๊กอินใหม่จากแหล่งของเดสก์บาร์ได้โดยตรงอย่างง่ายดายผ่านเว็บ

2.6 การปรับความละเอียดหน้าจอแบบใหม่

คอมพิวเตอร์ในปัจจุบัน (โดยเฉพาะแล็ปท็อป) รองรับการใช้จอภาพหลายจอ (ซึ่งเรียกว่า multihead) มากขึ้นเรื่อย ๆ ผู้ใช้หลายคนต้องต่อจอภาพที่สอง ไม่ว่าจะเป็นการสำเนาหน้าจอ (เช่น ต่อเครื่องฉายเพื่องานนำเสนอ) หรือเป็นส่วนขยายหน้าจอเพิ่ม

GNOME 2.24 ได้ปรับปรุงการควบคุมความละเอียดของหน้าจอเพื่อให้สามารถทำเช่นนี้ได้ โดยใช้ข้อกำหนด XRandR 1.2 จาก X.Org ทำให้ผู้ใช้ตั้งความละเอียดของจอภาพแต่ละจอผ่านกล่องโต้ตอบปรับความละเอียดได้อย่างง่ายดาย จอภาพแต่ละจอจะมีชื่อเรียก และจะแสดงชื่อไว้ที่มุมบนซ้ายของหน้าจอ เพื่อให้แยกแยะได้ง่าย

รูปที่ 8การปรับความละเอียดหน้าจอแบบใหม่

การปรับเปลี่ยนจะมีผลทันที โดยไม่จำเป็นต้องเริ่ม GNOME ใหม่

ความเข้ากันได้กับ XRandR 1.2 ของไดรเวอร์

ไดรเวอร์จอของ X.Org บางตัวจะยังไม่รองรับ XRandR 1.2 และอาจไม่สามารถใช้ความสามารถนี้ได้ ตัวอย่างหนึ่งคือไดรเวอร์ X ของ nVidia ซึ่งไม่ได้โอเพนซอร์ส

2.7 การรองรับชุดเสียงแบบใหม่

ชุดเสียงใน GNOME รุ่นนี้จะจัดการโดยใช้ libcanberra ซึ่งทำตาม ข้อกำหนดชุดเสียงและการเรียกชื่อ ของ Freedesktop.org ทำให้ตอนนี้สามารถติดตั้งชุดเสียงได้เหมือนชุดตกแต่งไอคอนแล้ว นอกจากนี้ การใช้ libcanberra ยังหมายความว่า การใช้เสียงแจ้งเหตุของโปรแกรมหนึ่ง ๆ จะมีโอกาสรบกวนโปรแกรมเล่นเพลงหรือเล่นหนังของคุณน้อยลง ทำให้คุณยังสามารถเปิดใช้เสียงแจ้งเหตุดังกล่าวได้ในขณะที่ดูหนังแบบเต็มจอ

รูปที่ 9การรองรับชุดเสียง

2.8 ทีวีดิจิทัลที่ดีขึ้น

โดยอาศัยความสามารถของกรอบงานสื่อผสม GStreamer, GNOME 2.22 ได้เพิ่มความสามารถเกี่ยวกับโทรทัศน์ดิจิทัล (DVB) เข้าใน โปรแกรมเล่นภาพยนตร์ และด้วยความมุ่งมั่นที่จะปรับปรุงให้ดีขึ้นอีก นักพัฒนาได้ทำงานเพื่อต่อเติมการรองรับนี้ โดยเพิ่มการรองรับเครื่องจูน DVB หลายตัว (ดูหลายช่องพร้อมกันได้) และการตรวจสอบแก้ปัญหาที่ดีขึ้น

นอกจากนี้ ยังได้ปรับปรุงการรองรับแบบแกะกล่อง (โดยไม่ต้องตั้งค่า) สำหรับรีโมทคอนโทรลแบบอินฟราเรดส่วนใหญ่ (โดยใช้กรอบงาน LIRC) ทำให้ผู้เขียนรู้สึกว่านั่งผ่อนคลายดูหนังดีกว่านั่งเขียนรายงานสำคัญชิ้นนี้เป็นไหน ๆ

ความสามารถใหม่อีกเรื่องใน GNOME 2.24 คือการรองรับวีดิทัศน์ YouTube ความละเอียดสูง และการรองรับข้อความบทบรรยายจากในเครือข่าย (ไม่ใช่จากในตัวเครื่อง)

2.9 เพื่อความงามเป็นพิเศษ

GNOME ต้องการทำให้คอมพิวเตอร์ของคุณดูดี จึงเป็นเหตุที่เราทำงานหนักกับชุดตกแต่งและงานศิลป์ สำหรับ GNOME 2.24 เราได้จัดการประกวด เพื่อรวบรวมภาพพื้นหลังพื้นโต๊ะที่น่าสนใจที่สุดที่ผู้ร่วมสมทบของเราได้สร้างขึ้น และเราได้แบ่งปันภาพโปรดของเรากับทุก ๆ คน

รูปที่ 10ภาพพื้นหลังสวย ๆ

3 มีอะไรใหม่เกี่ยวกับเทคโนโลยีสิ่งอำนวยความสะดวก

GNOME มีความปรารถนาที่จะทำให้ซอฟต์แวร์ใช้งานได้สำหรับทุกคน รวมทั้งผู้ใช้และนักพัฒนาที่มีความบกพร่องทางกายภาพ ซึ่งใช้คอมพิวเตอร์ได้ลำบากด้วย เพื่อช่วยบุคคลเหล่านี้ GNOME จึงได้ตั้งโครงการสิ่งอำนวยความสะดวกของ GNOME (GNOME Accessibility Project) และพัฒนากรอบงานเทคโนโลยีสิ่งอำนวยความสะดวก ซึ่งตอนนี้ได้กลายเป็นมาตรฐานบนเดสก์ท็อปเสรีไปแล้ว

GNOME 2.24 ยังคงพัฒนาต่อไปบนฐานความเชื่อถือที่ได้รับสำหรับสิ่งอำนวยความสะดวกของเรา โดยมีการปรับปรุงหลายรายการ

3.1 การปรับปรุงการเข้าถึงด้วยแป้นพิมพ์

ตั้งแต่ GNOME 2.0 เป็นต้นมา ผู้ใช้สามารถโฟกัสไปที่พาเนลของ GNOME ได้ด้วยการกดปุ่ม Control+Alt+Tab จากนั้น ผู้ใช้สามารถใช้ปุ่ม Tab เลื่อนไปในรายการต่าง ๆ บนพาเนลได้ ยกเว้นไอคอนแจ้งเหตุ

แต่ตั้งแต่ GNOME 2.24 เป็นต้นไป ผู้ใช้สามารถเข้าถึงไอคอนแจ้งเหตุโดยใช้แป้นพิมพ์ได้ด้วย

การเข้าถึงด้วยแป้นพิมพ์ยังมีการปรับปรุงในโปรแกรมจัดการแฟ้มอีกด้วย การเลือกแฟ้มด้วยแป้นพิมพ์ในรุ่นนี้จะเป็นแบบเรียงลำดับแทนการเลือกแบบพื้นที่สี่เหลี่ยม

3.2 การปรับปรุงสิ่งอำนวยความสะดวกสำหรับเมาส์

ใน GNOME 2.22 เราได้เพิ่ม การต่อเติมสิ่งอำนวยความสะดวกเป็นพิเศษสำหรับควบคุมเมาส์ เข้ามา สิ่งนี้มีการปรับปรุงเพิ่มขึ้นอีกใน GNOME 2.24:

  • สิ่งอำนวยความสะดวกสำหรับเมาส์ใช้ได้กับระบบที่มีหลายจอ
  • การวางแช่ สามารถเปิดใช้ได้ด้วยการวางแช่บนพื้นที่พิเศษของแอพเพล็ตซึ่งสามารถเลือกเพิ่มได้บนพาเนล
  • มีการวาดเส้นทางของท่าขยับให้เห็นบนหน้าจอ

3.3 การอ่านหน้าจอที่ดีขึ้น

GNOME และภาคีได้ร่วมกันทำงานอย่างหนัก เพื่อปรับปรุงการรองรับสิ่งอำนวยความสะดวกและการอ่านหน้าจอ ทั้งสำหรับ GNOME 2.24 เอง และสำหรับโปรแกรมประยุกต์ยอดนิยมต่าง ๆ

การรองรับการแปลงข้อความเป็นเสียงพูดและอุปกรณ์อักษรเบรลล์ในรุ่นนี้ ได้รับการปรับปรุงอย่างมากสำหรับโปรแกรมจาวา, OpenOffice.org, Mozilla Thunderbird, Pidgin, โปรแกรมแสดงวิธีใช้ของ GNOME และพาเนลของ GNOME โดยในรุ่นนี้ ผู้ใช้จะสามารถรู้ได้ถึงกล่องโต้ตอบที่เสียโฟกัสขณะสลับไปยังโปรแกรมอื่น

นอกจากนี้ ยังได้มีความพยายามอย่างมากที่จะเชื่อมรวมเทคโนโลยีการอ่านหน้าจอของ GNOME เข้ากับเว็บเบราว์เซอร์ที่ใช้ ARIA โดยเริ่มจาก Mozilla Firefox

ความสามารถใหม่อีกอย่างหนึ่งในรุ่นนี้ คือการเลือกน้ำเสียงที่สังเคราะห์โดยอัตโนมัติตามภาษาของระบบ การรองรับลิงก์ที่มีคำบรรยาย การออกเสียงพูดทีละประโยค และข้อความบทเรียนที่สามารถเลือกเพิ่มได้

4 มีอะไรใหม่สำหรับนักพัฒนา

รายการเปลี่ยนแปลงต่อไปนี้สำคัญสำหรับนักพัฒนาที่ใช้แพลตฟอร์มพัฒนา GNOME 2.24 ถ้าคุณไม่ได้สนใจรายการเปลี่ยนแปลงสำหรับนักพัฒนา ก็สามารถข้ามไปที่ หัวข้อ 5 มีอะไรใหม่เกี่ยวกับอุปกรณ์พกพา ได้

4.1 การเตรียมพร้อมสำหรับ GLib/GTK+ 3.0

เพื่อให้นักพัฒนาเริ่มเตรียมพร้อมสำหรับ GLib และ GTK+ 3.0 รุ่นถัด ๆ ไปของไลบรารีทั้งสองจะมีแฟล็กสำหรับบังคับความเข้ากันได้ที่เคร่งครัดยิ่งขึ้น

GLib, GTK+ และ ATK 3.0 จะบังคับให้ใช้เฉพาะแฟ้มส่วนหัวระดับบนสุด (เช่น glib.h, gobject.h, gio.h) เท่านั้นในโปรแกรมต่าง ๆ การทำเช่นนี้มีความสำคัญ เพื่อให้สามารถตัดแฟ้มส่วนหัวออก หรือเปลี่ยนชื่อ หรือจัดกลุ่มใหม่เป็นรายแฟ้มได้ โดยไม่กระทบกับซอร์สโค้ดของโปรแกรมต่าง ๆ

เพื่อให้นักพัฒนาสามารถทดสอบโปรแกรมของตนเองเรื่องความเข้ากันได้ จึงมีตัวเลือกของการคอมไพล์เพิ่มขึ้น คือ G_DISABLE_SINGLE_INCLUDES สำหรับ GLib, GTK_DISABLE_SINGLE_INCLUDES สำหรับ GTK+ และ ATK_DISABLE_SINGLE_INCLUDES สำหรับ ATK

เพียงแค่ส่งแฟล็กเหล่านี้ขณะคอมไพล์ (เช่น -DG_DISABLE_SINGLE_INCLUDES) เพื่อความมั่นใจว่าโปรแกรมของคุณถูกต้องแล้ว

การทดสอบความเข้ากันได้เพิ่มเติม

GLib, GTK+ และไลบรารีที่เกี่ยวข้อง ยังได้เตรียมตัวเลือกอื่น ๆ ของการคอมไพล์ ที่คุณสามารถใช้ทดสอบความเข้ากันได้กับ GTK+ 3.0 ได้

คุณสามารถปิดการรองรับฟังก์ชันและคลาสที่กำลังจะเลิกใช้และจะถูกตัดทิ้งในรุ่น 3.0 ได้ โดยกำหนดแมโครต่อไปนี้ขณะคอมไพล์: ATK_DISABLE_DEPRECATED, PANGO_DISABLE_DEPRECATED, G_DISABLE_DEPRECATED, GDK_PIXBUF_DISABLE_DEPRECATED, GDK_DISABLE_DEPRECATED และ GTK_DISABLE_DEPRECATED สำหรับ ATK, Pango, GLib, GdkPixbuf, GDK and GTK+ ตามลำดับ

คุณสามารถทดสอบว่าทุกฟังก์ชันที่โปรแกรมของคุณใช้นั้นรองรับระบบหลายจออย่างเหมาะสมได้ โดยกำหนดแมโคร GDK_MULTIHEAD_SAFE และ GTK_MULTIHEAD_SAFE

4.2 GLib 2.18

GNOME 2.24 เป็น GNOME รุ่นแรกที่ต้องใช้ GLib รุ่น 2.18

GLib 2.18 รองรับการใช้บริบทสำหรับการแปลข้อความที่ดีขึ้น โดยใช้แมโคร C_() และ NC_() รวมทั้งเพิ่ม API ใหม่ใน GIO ด้วย

มีรายชื่อเต็ม ๆ ของฟังก์ชันใหม่ใน GLib และ GIO

4.3 GTK+ 2.14

GNOME 2.24 เป็น GNOME รุ่นแรกที่ต้องใช้ GTK+ รุ่น 2.14

การเปลี่ยนแปลงที่สำคัญอย่างหนึ่งใน GTK+ รุ่นนี้คือ ทุกวิดเจ็ตที่สืบทอดมาจาก GtkAdjustment (เช่น ปุ่มปรับเลขและปุ่มรางเลื่อน) จะบังคับช่วงของค่าเป็น [ค่าต่ำสุด, ค่าสูงสุด - ขนาดของหน้า] ตามที่อธิบายในเอกสารประกอบ ถ้าคุณต้องการจะใช้ช่วงเป็น [ค่าต่ำสุด, ค่าสูงสุด] ก็ให้กำหนด page_size เป็น 0

Glade และ GTK+ 2.14

Glade ทุกรุ่น (รวมทั้ง 3.4.1) ในตอนนี้ จะสร้าง GtkSpinButton, GtkHScale และ GtkVScale ด้วยค่า page_size เป็น 10 โดยปริยาย นักพัฒนาควรตรวจสอบแฟ้ม Glade ว่าค่าขนาดของหน้าเป็นค่าที่ใช้ได้หรือไม่

มีคลาสใหม่ คือ GtkMountOperation เพื่อใช้ส่งค่าไปยังฟังก์ชัน g_volume_mount อ็อบเจกต์ชนิด GtkMountOperation เป็น GMountOperation ชนิดหนึ่ง ที่สามารถแสดงกล่องโต้ตอบยืนยันตัวบุคคลได้ถ้าจำเป็น

มีวิธีใหม่ซึ่งใช้ได้ข้ามระบบในการเปิดแฟ้มและ URI อื่น ๆ ด้วยโปรแกรมปริยาย โดยใช้ฟังก์ชัน gtk_show_uri() แทนที่จะต้องอาศัย libgnome นอกจากนี้ GDK ยังได้เพิ่มการสร้างรูปธรรมของ GAppLaunchContext สำหรับจัดการโปรแกรมแบบกราฟิกส์ (รวมทั้งการแจ้งเหตุเมื่อเริ่มโปรแกรม และการป้องกันการขโมยโฟกัสด้วย) คือ GdkAppLaunchContext

สิ่งใหม่ใน GTK+ 2.14 อีกอย่างหนึ่งคือ API แบบใช้ GFile สำหรับ GtkFileChooser และความสามารถในการสร้างส่วนย่อย ๆ ของ XML tree ใน GtkBuilder

มีรายชื่อเต็ม ๆ ของฟังก์ชันใหม่ใน GTK+ และ GDK

4.4 ไลบรารีข้อความทันใจ

พร้อมกับโปรแกรมส่งข้อความทันใจตัวใหม่ (ดู หัวข้อ 2.1 ความสัมพันธ์ไม่ขาดตอน) GNOME 2.24 ก็มีไลบรารี libempathy, libempathy-gtk และ telepathy-glib ซึ่งสามารถใช้เชื่อมรวมความสามารถเกี่ยวกับข้อความทันใจเข้าในโปรแกรม GNOME ใด ๆ ก็ได้

4.5 เดสก์บาร์

อินเทอร์เฟซ Match ในรุ่นนี้มีเมธอดใหม่สองเมธอด คือ set_snippet และ get_snippet โดยถ้ามีการกำหนดข้อความสั้น (snippet) ก็จะแสดงข้อความสั้นนั้นใต้ค่า get_verb ของรายการ

อินเทอร์เฟซ Action มีเมธอดใหม่ คือ get_tooltip ถ้ามีการกำหนดทับเมธอดนี้ จะมีคำแนะนำเครื่องมือเมื่อผู้ใช้วางเมาส์แช่เหนือรายการที่ตรงหรือเหนือการกระทำ

5 มีอะไรใหม่เกี่ยวกับอุปกรณ์พกพา

GNOME 2.24 เป็นรุ่นแรกที่มีแพลตฟอร์มพัฒนา GNOME Mobile ซึ่งได้รวบรวมองค์ประกอบเดสก์ท็อปมาตรฐานเข้าด้วยกัน เพื่อเป็นแพลตฟอร์มแกนหลักที่ผู้จัดแจกและผู้ผลิตอุปกรณ์พกพาต่าง ๆ สามารถใช้เป็นฐานในการพัฒนาสภาพแวดล้อมของงานพัฒนาที่ซับซ้อนได้

แพลตฟอร์ม GNOME Mobile เป็นหัวใจของเทคโนโลยีของแพลตฟอร์มอุปกรณ์พกพาที่ใช้ลินุกซ์เป็นฐานจำนวนมาก ซึ่งรวมถึง Maemo, ACCESS Linux Platform, แพลตฟอร์มอ้างอิง LiMo, Ubuntu Mobile, Moblin และ Poky

ชุด GNOME Mobile รุ่นแรกนี้ ประกอบด้วย:

  • โครงสร้างพื้นฐานแกนหลัก

    • GLib— จัดเตรียมองค์ประกอบพื้นฐานแกนหลักสำหรับสร้างไลบรารีและโปรแกรมที่ใช้ได้ข้ามระบบ การสร้างวงรอบการทำงานหลักของโปรแกรม และฟังก์ชันอรรถประโยชน์จำนวนมากสำหรับจัดการสตริงและโครงสร้างข้อมูลทั่วไป
    • DBus— ระบบบัสข้อความเพื่อเป็นวิธีที่สะดวกสำหรับให้โปรแกรมต่าง ๆ สื่อสารถึงกัน รวมทั้งประสานการเกิดและดับของโพรเซสต่าง ๆ
  • โครงสร้างพื้นฐานของระบบ

    • BlueZ— ชั้นการรองรับบลูทูธที่สอดคล้องกับมาตรฐาน สมบูรณ์ และแยกส่วนได้ ซึ่งมีเครื่องมือแบบกราฟิกส์จำนวนมากสำหรับ GNOME อยู่
    • Evolution Data Server (ฉบับปรับใช้กับ DBus) — จัดการการเข้าถึงข้อมูลปฏิทิน ภารกิจ และสมุดที่อยู่ของผู้ใช้ ทั้งที่อยู่ในเครื่อง และผ่านโพรโทคอลเครือข่ายที่นิยมใช้กันทั่วไป
    • Telepathy— กรอบงานที่รวมเป็นหนึ่งเดียวสำหรับการส่งข้อความทันใจ การส่งเสียงหรือภาพผ่านไอพี และการสร้างซ็อกเก็ตจุดต่อจุด (Tube)
    • Avahi— ชั้นการรองรับ DNS แบบมัลติแคสต์ ซึ่งให้บริการการค้นหาเครื่องในเครือข่ายเฉพาะที่ในแบบ zeroconf
    • GStreamer— กรอบงานสื่อผสมที่เพียบพร้อม ซึ่งสามารถทำได้ทั้งกรณีง่าย ๆ อย่างการเล่นเสียงหรือวีดิทัศน์ หรือการทำสตรีม และกรณีที่ซับซ้อนอย่างการจับสัญญาณ การผสมสื่อ และการแก้ไขแบบไม่เป็นเชิงเส้น
    • SQLite— ฐานข้อมูล SQL อย่างง่ายที่มีประสิทธิภาพสูง ซึ่งสามารถฝังตัวในโปรแกรมได้อย่างง่ายดาย
    • GConf— ช่วยในการจัดเก็บและอ่านค่าปรับแต่งต่าง ๆ
    • Matchbox— โปรแกรมจัดการหน้าต่างสำหรับสภาพแวดล้อม X11 ที่ไม่ใช่เดสก์ท็อป เช่นอุปกรณ์มือถือ กล่องอุปกรณ์สำเร็จรูป หรืออุปกรณ์ใด ๆ ที่ความละเอียดของหน้าจอ กลไกการป้อนข้อมูล หรือทรัพยากรระบบมีจำกัด
    • gio และ GVFS— จัดเตรียมชุด API ของระบบแฟ้มเสมือน ซึ่งรองรับบริการเครือข่ายแบบต่าง ๆ จำนวนมาก รวมถึง FTP, SFTP (SSH), WebDAV, NFS และ SMB/CIFS
  • ส่วนติดต่อผู้ใช้

    • GTK+— ชุดเครื่องมือที่ใช้ได้ข้ามระบบและมากความสามารถ สำหรับสร้างส่วนติดต่อผู้ใช้แบบกราฟิกส์ พร้อม API ที่ใช้ง่าย
    • Pango— ให้บริการกับ GTK+ ในการจัดเรียงและวาดข้อความต่าง ๆ โดยเน้นที่การรองรับนานาภาษา
    • ATK (ชุดเครื่องมือสำหรับเทคโนโลยีสิ่งอำนวยความสะดวก)— สนับสนุนสิ่งอำนวยความสะดวกพื้นฐานในวิดเจ็ตทั้งหมดของ GTK+ และเปิดช่องทางให้เครื่องมือเทคโนโลยีสิ่งอำนวยความสะดวกต่าง ๆ สามารถเข้าอ่านข้อมูลและควบคุมโปรแกรมได้
    • Cairo— ไลบรารีกราฟิกส์แบบเวกเตอร์สองมิติ ซึ่งออกแบบมาให้แสดงผลลัพธ์ที่ตรงกันในสื่อแสดงผลทุกชนิด โดยจะใช้ความสามารถของอุปกรณ์ฮาร์ดแวร์เร่งการแสดงผลถ้าเป็นไปได้ Cairo ใช้ API อย่างง่ายซึ่งคล้ายกับโพสต์สคริปต์
  • การเชื่อมต่อกับภาษาต่าง ๆ

    ไลบรารีทั้งหมดของแพลตฟอร์ม GNOME Mobile สามารถใช้ผ่าน API ภาษา C โดยตรง หรือผ่านการเชื่อมต่อกับภาษาระดับสูงก็ได้ เพื่อการใช้ความสามารถของตัวไลบรารีอย่างเต็มที่ ผ่านโครงสร้างภาษาที่นักพัฒนาภาษาระดับสูงคุ้นเคย ภาษาต่อไปนี้มีการรองรับอย่างเต็มที่:

    • C
    • C++
    • ไพธอน

GNOME มุ่งมั่นที่จะสนับสนุนแพลตฟอร์มเหล่านี้ และจะสร้างอิมเมจของเครื่องเสมือนที่สามารถดาวน์โหลดมาใช้ทดสอบได้ ผ่านชุดจัดแจกที่ใช้ GNOME 2.24 เป็นฐาน เช่น Poky, Moblin และ Ubuntu Mobile เพื่อให้นักพัฒนาสามารถทดสอบตัวแพลตฟอร์มและปรับย้ายโปรแกรมต่าง ๆ ได้

6 การรองรับนานาภาษา

ด้วยการทำงานของสมาชิกทั่วโลกของ โครงการแปล GNOME ทำให้ GNOME 2.24 รองรับภาษาต่าง ๆ ถึง 45 ภาษา (ที่มีการแปลข้อความอย่างน้อย 80 เปอร์เซ็นต์) รวมทั้งมีเอกสารคู่มือสำหรับผู้ใช้และผู้ดูแลระบบในหลายภาษาด้วย

ภาษาที่รองรับ:

  • กรีก
  • กาลิเชียน
  • คาตะลาน
  • คุชราตี
  • จีน (ฮ่องกง)
  • จีน (ไต้หวัน)
  • จีนกลาง
  • ญี่ปุ่น
  • ดัตช์
  • ตุรกี
  • ทมิฬ
  • นอร์เวย์แบบบุคมอล
  • บัลแกเรีย
  • ปัญจาบี
  • ฝรั่งเศส
  • ฟินแลนด์
  • ภูฏาน
  • มลยาฬัม
  • มาซิโดเนีย
  • มาราฐี
  • ยูเครน
  • รัสเซีย
  • ลิทัวเนีย
  • สวีเดน
  • สเปน
  • สโลวีเนีย
  • อังกฤษ (แบบสหรัฐ, สหราชอาณาจักร และแคนาดา)
  • อารบิก
  • อิตาลี
  • ฮังการี
  • ฮีบรู
  • เกาหลี
  • เช็ก
  • เซอร์เบีย (ซีริลลิกและละติน)
  • เดนมาร์ก
  • เบ็งกาลี (อินเดีย)
  • เยอรมัน
  • เวียดนาม
  • เอสโตเนีย
  • แบ็ซค์
  • แอลเบเนีย
  • โปรตุเกส
  • โปรตุเกสบราซิล
  • โปแลนด์
  • ไทย

และยังมีอีกหลายภาษาที่รองรับเพียงบางส่วน โดยมีการแปลข้อความเกินครึ่งหนึ่ง

การแปลชุดซอฟต์แวร์ที่ใหญ่โตอย่าง GNOME เป็นภาษาหนึ่ง ๆ เป็นงานที่หนักหนาสาหัสมาก แม้สำหรับทีมงานที่อุทิศเวลาอย่างเต็มที่ แต่ใน GNOME รุ่นนี้ มีหกภาษาที่ได้ทุ่มเทกำลังอย่างทรหด จนสามารถเพิ่มความสมบูรณ์ของคำแปลขึ้นจากรุ่นก่อนมากกว่า 10% ขอแสดงความยินดีกับทีมภาษากัณณาท ไมถิลี มาราฐี พาชโต โครเอเชีย และทมิฬ สำหรับความขยันขันแข็งของพวกคุณ

ดูสถิติและข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ เว็บสถานะงานแปล ของ GNOME

7 การติดตั้ง GNOME

คุณสามารถทดลองใช้ GNOME 2.24 ได้จาก LiveCD ซึ่งมีซอฟต์แวร์ทั้งหมดที่อยู่ใน GNOME 2.24 รวมอยู่ในซีดีแผ่นเดียว คุณสามารถใช้ LiveCD บูตเครื่องโดยตรง โดยไม่ต้องติดตั้งอะไรเลยก็ได้ LiveCD สามารถดาวน์โหลดได้จาก แหล่ง BitTorrent ของ GNOME

ในการติดตั้งหรือปรับรุ่นเป็น GNOME 2.24 เราขอแนะนำให้คุณติดตั้งแพกเกจอย่างเป็นทางการจากผู้ผลิตหรือผู้แจกจ่ายของคุณ ดิสทริบิวชันหลัก ๆ จะเตรียม GNOME 2.24 ให้คุณเร็ว ๆ นี้ และบางดิสทริบิวชันก็อาจมี GNOME 2.24 รุ่นพัฒนาอยู่แล้วก็ได้ คุณสามารถดูรายชื่อของดิสทริบิวชันที่มี GNOME พร้อมทั้งรุ่นล่าสุดที่มีได้จากหน้า Get Footware ของเรา

ถ้าคุณกล้าและอดทนพอ และอยากจะคอมไพล์ GNOME จากซอร์สโค้ดเอง เราขอแนะนำให้ใช้เครื่องมือคอมไพล์อย่างใดอย่างหนึ่ง คือ GARNOME สำหรับคอมไพล์จาก tarball ที่ปล่อยออกมา โดยคุณต้องใช้ GARNOME 2.24.x เพื่อคอมไพล์ GNOME 2.24.x นอกจากนี้ ยังมี JHBuild ซึ่งออกแบบมาสำหรับการคอมไพล์ GNOME ล่าสุดจาก SVN โดยคุณสามารถใช้ JHBuild คอมไพล์ GNOME 2.24.x โดยใช้ชุดมอดูล gnome-2.24 ได้

ถึงแม้การคอมไพล์ GNOME โดยตรงจาก tarball จะทำได้เหมือนกัน แต่เราขอแนะนำให้ใช้ชุดเครื่องมือคอมไพล์ข้างต้นจะดีกว่า

8 มุ่งสู่ GNOME 2.26

การพัฒนาไม่ได้หยุดอยู่เพียงแค่ GNOME 2.24 เท่านั้น งานพัฒนาสำหรับ GNOME 2.26 ได้เริ่มขึ้นแล้ว โดยมีกำหนดออกในอีกหกเดือนหลังจากที่ GNOME 2.24 ออก

แผนงาน GNOME จะให้รายละเอียดแผนงานของนักพัฒนาสำหรับการออกรุ่นหน้า และ กำหนดการออก GNOME 2.26 จะประกาศเร็ว ๆ นี้

9 ผู้จัดทำ

บันทึกประจำรุ่นนี้รวบรวมโดย Davyd Madeley ด้วยความช่วยเหลือจากชุมชน GNOME ฉบับแปลไทยแปลโดย เทพพิทักษ์ การุญบุญญานันท์, อิสริยะ ไพรีพ่ายฤทธิ์ และ Akom C. ในนามของชุมชน GNOME เราขอขอบคุณด้วยความซาบซึ้ง ต่อนักพัฒนาและผู้ร่วมสมทบทุกคน ที่ทำให้ GNOME รุ่นนี้เกิดขึ้นได้

บันทึกนี้ สามารถแปลเป็นภาษาใด ๆ ได้อย่างเสรี หากคุณประสงค์จะแปลเป็นภาษาของคุณ กรุณาติดต่อ โครงการแปล GNOME