บันทึกประจำรุ่น GNOME 2.10

1 เกริ่นนำ

เดสก์ท็อป GNOME 2.10 เป็นรุ่นล่าสุดของระบบเดสก์ท็อปเสรียอดนิยมและหลากแพลตฟอร์ม

การปล่อยเดสก์ท็อป GNOME ยังดำเนินต่อไปตามกำหนดเวลา GNOME 2.10 มีความสามารถใหม่ที่น่าสนใจเพิ่มมาจำนวนหนึ่ง และการแก้ไขข้อผิดพลาดมากมาย ในรุ่นนี้ GNOME ได้รวมโปรแกรมเล่นหนังและรีดซีดีเพลงมาด้วย คุณสามารถติดตามรายละเอียดเพิ่มเติมได้จากหัวขัอถัดไป

GNOME สร้างสภาพแวดล้อมที่เป็นมิตรกับผู้ใช้ และ "ทำงานได้ทันที" สำหรับผู้ใช้ทั่วไป โดยไม่มีความซับซ้อนเกินจำเป็น หรือความสามารถที่ลึกลับ ขณะเดียวกัน เราก็ให้ความยืดหยุ่นที่นักพัฒนาผู้มีประสบการณ์ต้องการ

GNOME ทำงานบนแพลตฟอร์มที่หลากหลาย รวมถึง GNU/Linux (ซึ่งเรียกโดยทั่วไปว่าลินุกซ์), Solaris, HP-UX, BSD และ Darwin ของ Apple GNOME มีความสามารถอันทรงพลังหลายอย่าง เช่น การวาดข้อความที่เรียบสวย โครงสร้างระบบอำนวยการใช้งานชั้นยอด และโครงสร้างการสนับสนุนภาษานานาชาติที่สมบูรณ์ ซึ่งรวมถึงการสนับสนุนภาษาเขียนสองทิศทางด้วย

แน่นอนว่า GNOME 2.10 รวมเอาการปรับปรุงทุกอย่างใน GNOME 2.8 ไว้ทั้งหมด ซึ่งคุณสามารถศึกษาได้จาก บันทึกประจำรุ่น ของ GNOME 2.8

เดสก์ท็อปรุ่นนี้มีโปรแกรมทุกอย่างที่จำเป็นสำหรับการใช้งานพื้นฐานของผู้ใช้ โปรแกรมใหญ่ๆ อย่าง Gnumeric และ OpenOffice.org ก็มีอยู่ เพียงแต่มีการพัฒนาในวงจรการปล่อยของตัวเอง ไม่ได้รวมอยู่ในการปล่อยของ GNOME

GNOME เป็นส่วนหนึ่งของโครงการ GNU และเป็น ซอฟต์แวร์เสรี

กรุณาอ่านหัวข้อ มีอะไรใหม่ ต่อ หรือตามลิงก์ทางด้านขวาเพื่อศึกษาเพิ่มเติมเกี่ยวกับรุ่นนี้และเดสก์ท็อป GNOME โดยทั่วไป

2 มีอะไรใหม่ใน GNOME 2.10

2.1 เดสก์ท็อป

2.1.1 ตัวจัดการแฟ้ม

ตัวจัดการแฟ้มที่รู้จักกันในนาม Nautilus ทำงานได้เร็วและเสถียรขึ้นอีกใน GNOME 2.10 จากการเปลี่ยนแปลงสถาปัตยกรรมภายใน การเปลี่ยนแปลงนี้ น่าจะช่วยให้นักพัฒนาซอฟต์แวร์ดูแลและขยับขยาย Nautilus ได้ง่ายลงในอนาคต

การลากปล่อยกับโปรแกรมต่างๆ เช่น Mozilla และ Firefox ก็ทำงานได้ราบรื่นขึ้นเช่นกัน

นอกจากนี้ ยังมีการเปลี่ยนแปลงเล็กๆ น้อยๆ มากมาย ที่แสดงให้เห็นความใส่ใจในรายละเอียดของ GNOME ตัวอย่างเช่น

  • ปุ่มพาธได้กลายเป็นปุ่มอย่างชัดเจนแล้ว
  • เมื่อสร้างแฟ้มใหม่ ก็จะเริ่มเปลี่ยนชื่อได้ทันที
  • เมื่อเปลี่ยนตำแหน่งไปดูโฟลเดอร์ระดับบนขึ้นไปด้วยปุ่ม Alt-Up จะเลือกโฟลเดอร์ปัจจุบันไว้เลย

รูปที่ 1เนี้ยบและเฉียบ ตัวจัดการแฟ้ม Nautilus

GNOME 2.10 ได้เตรียมภาพและลวดลายพื้นหลังที่ผ่านการคัดสรรมาพร้อมกับเดสก์ท็อปด้วย เพื่อให้คุณสามารถปรับแต่งพื้นโต๊ะได้ตามใจชอบ

รูปที่ 2ชุดของพื้นหลังที่เรียบง่ายแต่สวยงาม

2.1.2 พฤติกรรมของหน้าต่าง

GNOME 2.10 มีความสามารถใหม่ที่คุณอาจไม่สังเกตเมื่อแรกเห็น คือการทำงานตามมาตรฐานระหว่างเดสก์ท็อปของ Freedesktop.org

เมื่อก่อนนี้ ขณะที่คุณกำลังพิมพ์อะไรสักอย่างในโปรแกรมของคุณ แล้วมีข้อความด่วนจากเพื่อนของคุณเข้ามาชวนแช็ตด้วย คำที่คุณพิมพ์ก็จะเข้าไปปรากฏในหน้าต่างแช็ต ลองนึกภาพว่า ถ้านี่เกิดขึ้นระหว่างที่คุณกำลังป้อนรหัสผ่าน คงไม่ดีแน่ กรณีอย่างนี้จะไม่เกิดใน GNOME 2.10 อีกแล้ว

นอกจากนี้ ถ้าโปรแกรมใดโปรแกรมหนึ่งใช้เวลาโหลดนาน งานของคุณก็จะไม่สะดุดเมื่อโปรแกรมนั้นเปิดหน้าต่างขึ้น

2.2 โปรแกรมประยุกต์

2.2.1 โปรแกรมเล่นหนัง

GNOME 2.10 ได้รวม Totem โปรแกรมเล่นหนังยอดนิยมเข้ามาแล้ว โดยใช้โครงสร้างสื่อผสม GStreamer ของ GNOME โปรแกรม Totem มีการติดต่อผู้ใช้ที่เข้าใจง่ายตามที่ผู้ใช้ GNOME คาดหวัง รวมทั้งมีการตรวจสอบฮาร์ดแวร์โดยอัตโนมัติ แทนการตั้งค่าที่ซับซ้อน

รูปที่ 3โปรแกรมเล่นหนัง

2.2.2 โปรแกรมดึงเพลงจากซีดี

Sound Juicer โปรแกรม "รีดซีดี" โปรแกรมโปรดของหลายคน สามารถดึงเพลงจากซีดีสำหรับเล่นบน PC หรือบนเครื่องเล่นเพลงในภายหลังได้ การดาวน์โหลดชื่อเพลงโดยอัตโนมัติ จะช่วยให้คุณเสียเวลาไม่เกินสองสามคลิกเท่านั้น

รูปที่ 4โปรแกรมดึงเพลงจากซีดี

2.2.3 เว็บเบราว์เซอร์

เว็บเบราว์เซอร์ "Epiphany" ของ GNOME ใช้ Mozilla เป็นฐาน โดยยังเชื่อมรวมกับเดสก์ท็อป GNOME อย่างเต็มที่ บางส่วนของการปรับปรุงใน 2.10 ได้แก่

  • โหมดเต็มจอที่ดีขึ้น
  • แถบตำแหน่งบ่งชี้ด้วยว่าไซต์ที่แสดงใช้การเชื่อมต่อแบบนิรภัยหรือไม่ และแสดงไอคอนของไซต์ (favicon) ด้วย
  • สามารถส่งบุ๊กมาร์กให้โปรแกรมอื่นใช้ได้
  • ตัวจัดการส่วนขยายสำหรับเพิ่มความสามารถพิเศษ

รูปที่ 5เว็บเบราว์เซอร์

2.2.4 Evolution

Evolution ไคลเอนต์สำหรับอีเมลและกรุปแวร์ของ GNOME สนับสนุนทั้งการตั้งค่าเมลตามแบบฉบับ, Novell Groupwise และ Microsoft Exchange คุณสามารถใช้ Evolution อ่าน เขียน และจัดการอีเมล ที่อยู่ติดต่อ และกำหนดการในปฏิทินได้

ใน GNOME 2.10 นี้ คุณสามารถทำงานแบบออฟไลน์กับอีเมล ปฏิทิน และที่อยู่ติดต่อได้ง่ายลงถ้าคุณใช้ IMAP, LDAP, WebCal, Groupwise หรือ Exchange การเปลี่ยนแปลงต่างๆ จะถูกปรับให้ตรงกันเมื่อคุณออนไลน์อีกครั้ง

รุ่นใหม่นี้มีการปรับปรุงอื่นๆ ที่เกี่ยวกับปฏิทินอีก:

  • สามารถแนบแฟ้มในกำหนดการได้
  • สามารถตั้งข้อยกเว้นในการวนซ้ำกำหนดการได้
  • ปฏิทินมีข้อมูลสภาพอากาศด้วย (ในสหรัฐอเมริกาเท่านั้น)

รูปที่ 6พยากรณ์อากาศรายวัน

และความสามารถใหม่อื่นๆ:

  • สนับสนุนโฟลเดอร์ที่ใช้ร่วมและตัวเลือกของการส่งใน Groupwise
  • สนับสนุนขนาดโฟลเดอร์และการเตือนรหัสผ่านหมดอายุของ Exchange
  • การติดต่อผู้ใช้ของส่วนอีเมลสนับสนุนภาษาเขียนที่เขียนจากขวามาซ้าย

รูปที่ 7ไคลเอนต์อีเมล

2.2.5 GnomeMeeting

GnomeMeeting ช่วยให้ผู้ใช้สามารถมองเห็นและพูดคุยกัน ผ่านระบบโทรศัพท์บนอินเทอร์เน็ต (VoIP) และการประชุมทางวีดิทัศน์ได้ ใน GNOME 2.10 นี้ สมุดที่อยู่ของ GnomeMeeting ได้ใช้ร่วมกับไคลเอนต์อีเมล Evolution แล้ว ทำให้คุณไม่ต้องป้อนข้อมูลที่อยู่ติดต่อหลายที่

ในรุ่นนี้ คุณทำได้แม้กระทั่งมองหาผู้ใช้ Gnome Meeting อื่นๆ ที่อยู่ในเครือข่ายท้องถิ่นของคุณ โดยไม่ต้องค้นหารายละเอียดที่อยู่ติดต่อของพวกเขาก่อน และคุณสามารถดูภาพวีดิทัศน์ของคุณ ควบคู่ไปกับภาพจากคู่สนทนาของคุณได้ เพื่อจะได้เห็นว่าอีกฝ่ายเห็นภาพอะไรบ้าง

รูปที่ 8ไคลเอนต์สำหรับการคุยโทรศัพท์ทางอินเทอร์เน็ต และการประชุมผ่านวีดิทัศน์

2.3 การปรับแต่งพื้นโต๊ะ

2.3.1 ผังแป้นพิมพ์

การเลือกผังแป้นพิมพ์ในรุ่นนี้ง่ายลงอีก ด้วยตัวปรับแต่งแป้นพิมพ์ โดยเพียงแต่กดปุ่ม "เพิ่ม" เพื่อเลือกผังแป้นพิมพ์จากรายการผังแป้นพิมพ์นานาชาติ และก่อนที่จะตกลงเลือก คุณสามารถดูผลของปุ่มต่างๆ ได้ในช่องแสดงตัวอย่างผังแป้นพิมพ์ นอกจากนี้ ยังมีการเรียบเรียงตัวเลือกต่างๆ ของผังเสียใหม่ให้เลือกได้ง่ายลงด้วย

รูปที่ 9การปรับแต่งแป้นพิมพ์ - ผังแป้นพิมพ์

2.4 วัตถุพาเนล

GNOME 2.10 มีการพัฒนาวัตถุพาเนล (หรือที่เรียกว่า แอพเพล็ต) อย่างมาก มีความสามารถใหม่และการเชื่อมรวมกับส่วนที่เหลือของเดสก์ท็อปดีขึ้นกว่าเดิม

ความเปลี่ยนแปลงที่เห็นได้ชัดที่สุด คือการตัดเมนู "ปฏิบัติการ" ออก และเพิ่มเมนู "ที่หลักๆ" และ "พื้นโต๊ะ" เพื่อให้คุณเข้าถึงรายการที่คุณใช้บ่อยที่สุดได้อย่างรวดเร็ว โดยไม่ต้องสำรวจผ่านเมนูย่อยต่างๆ ตัวอย่างเช่น เมนู "ที่หลักๆ" จะแสดงโฟลเดอร์บ้านของคุณ คอมพิวเตอร์ของคุณ เซิร์ฟเวอร์ในเครือข่าย และการค้นหาแฟ้ม ส่วนในเมนู "พื้นโต๊ะ" คุณจะพบการปรับแต่งพื้นโต๊ะและการดูแลระบบ การออกจากระบบ และการเปิดเอกสารแนะนำการใช้งาน

เมนูบนพาเนลทั้งหมด ได้ถูกกำหนดตามข้อกำหนดเมนูข้ามแพลตฟอร์มของ Freedesktop.org แล้ว ทำให้ซอฟต์แวร์ทั่วไปสามารถเพิ่มตัวเองในเมนู "โปรแกรม" ได้ โดยไม่ต้องรู้อะไรเกี่ยวกับ GNOME เลย

นอกจากนี้ แอพเพล็ตเกือบทั้งหมดยังสามารถทำให้โปร่งใสได้ เมื่อพาเนลโปร่งใส

รูปที่ 15โน้ตติดกาว

2.4.1 การควบคุมโมเด็มที่เชื่อมรวมแล้ว

GNOME 2.10 มีแอพเพล็ตตัวใหม่สำหรับควบคุมโมเด็ม โดยมีการเชื่อมรวมกับเครื่องมือดูแลระบบของ GNOME ด้วย

รูปที่ 10แอพเพล็ตควบคุมโมเด็มใหม่

2.4.2 ถังขยะบนพาเนล

GNOME 2.10 มีถังขยะให้คุณเพิ่มในพาเนลได้ ซึ่งทำงานเหมือนกับถังขยะบนพื้นโต๊ะ โดยคุณสามารถลากแฟ้มและสิ่งต่างๆ มาปล่อยในถังขยะได้ โดยไม่ต้องย่อหน้าต่างทั้งหลายที่เปิดอยู่

รูปที่ 11ถังขยะบนพาเนลของคุณ

2.4.3 ควบคุมอุปกรณ์ที่เมานท์อยู่

ใน GNOME 2.8 นั้น คุณสามารถเมานท์สื่อดิจิทัลของคุณ เช่น ซีดี ดีวีดี และ หน่วยความจำ USB ได้อย่างง่ายดาย ส่วนรุ่นนี้ แอพเพล็ตเมานท์ดิสก์ ก็ช่วยให้คุณใช้หน่วยเก็บข้อมูลเหล่านี้ได้ โดยไม่ต้องยุ่งยากในการหาไอคอนบนพื้นโต๊ะหลังหน้าต่างที่บังอยู่ แอพเพล็ตนี้จะแสดงหน่วยเก็บที่เมานท์อยู่ (หรือที่เลิกเมานท์ไม่ได้) เพื่อให้คุณสั่งเมานท์ ดันแผ่นออก หรือเปิดดูเนื้อหาผ่านตัวจัดการแฟ้มได้

รูปที่ 12การเมานท์ไดรฟ์

2.4.4 ข้อมูลสภาพอากาศที่เพิ่มขึ้น

ในรุ่นนี้ แอพเพล็ตรายงานสภาพอากาศสามารถแสดงข้อมูลของสถานที่ต่างๆ ได้มากกว่าเดิม และชื่อสถานที่ก็ได้รับการแปลเป็นภาษาที่ไม่ใช่ภาษาอังกฤษตามความเหมาะสม นอกจากนี้ การพยากรณ์ยังได้คำนวณเวลาดวงอาทิตย์ขึ้นและตกในสถานที่เกือบทั้งหมดด้วย

รูปที่ 13รายงานสภาพอากาศ

2.4.5 การควบคุมเสียง

แอพเพล็ตปรับระดับเสียงบนพาเนลตัวใหม่ (กับรูปลักษณ์ใหม่บนพื้นโต๊ะ) สามารถควบคุมเกือบทุกส่วนของฮาร์ดแวร์เสียงของคุณ การใช้โครงสร้างสื่อผสม GStreamer ทำให้ตัวปรับระดับเสียงใช้ง่ายและสะดวกกว่าเดิม และโครงสร้างสื่อผสมเดียวกันนี้ ก็ได้เป็นฐานให้กับ Totem, Sound Juicer, ตัวเล่นซีดีของ GNOME และโปรแกรมทั่วไปอีกมาก ทำให้การปรับระดับเสียงที่พาเนลที่เดียว มีผลต่อระดับเสียงของโปรแกรมเหล่านี้หมดทุกโปรแกรม

รูปที่ 14การปรับระดับเสียงแบบใหม่สำหรับพาเนล

2.4.6 จดบันทึก

แอพเพล็ตโน้ตติดกาวรุ่นใหม่ได้ช่วยให้การเขียนโน้ตแบบ PostIt บนพื้นโต๊ะง่ายดายลงอีก ด้วยการติดต่อผู้ใช้ที่ง่ายลง และการแก้ไขข้อบกพร่องมากมาย ตัวอย่างเช่น โน้ตติดกาวจะติดบนพื้นที่ทำงานที่ถูกต้อง หรือแม้แต่บนจอภาพต่างหากก็ได้

และโน้ตติดกาวรุ่นนี้ ก็จะวางอยู่เหนือหน้าต่างอื่นทั้งหมด เพื่อไม่ให้มันหายไป ถ้าคุณต้องการจะซ่อนโน้ต ก็เพียงแค่ใช้เมนูของแอพเพล็ตจากการคลิกขวา

2.4.7 พิเศษสำหรับแล็ปทอป

ในรุ่นนี้ GNOME ได้เพิ่มแอพเพล็ตสำหรับติดตามความเร็วของหน่วยประมวลผลของแล็ปท็อป ตัวติดตามความถี่ซีพียูจะคอยติดตามหน่วยประมวลผลที่ปรับความเร็วได้ (เช่น หน่วยประมวลผลที่มี Intel Speedstep หรือ AMD PowerNow) เพื่อแสดงสถานะปัจจุบัน คุณทำได้แม้แต่สั่งปรับความถี่เอง ในกรณีที่คุณไม่ได้เปิดการปรับความถี่อัตโนมัติไว้

รูปที่ 16ติดตามการปรับความถี่ซีพียู

2.4.8 แอพเพล็ตที่ตัดออก

มีแอพเพล็ตสามตัวที่ถูกตัดออกใน GNOME 2.10 และแทนที่ด้วยทางเลือกที่ดีกว่าในกรณีทั่วไป

แอพเพล็ตเล่นซีดีถูกตัดออกแล้ว ดังนั้น คุณจะไม่เห็นตัวเล่นซีดีบนพาเนลของคุณ เมื่อไม่มีแผ่นซีดีในไดรฟ์ของคุณ แต่เมื่อคุณใส่แผ่นซีดี โปรแกรมเล่นซีดีของ GNOME จะถูกเรียกขึ้นมา ซึ่งคุณสามารถควบคุมการทำงานผ่านไอคอนแจ้งเหตุบนพาเนลได้

แอพเพล็ตสำหรับติดตามเครือข่ายไร้สายโดยเฉพาะถูกตัดออก เพราะแอพเพล็ตติดตามเครือข่ายซึ่งเพิ่มมาใน GNOME 2.8 ได้สนับสนุนเครือข่ายไร้สายแล้ว

แอพเพล็ตติดตามกล่องเมลถูกตัดออก เพราะไม่มีการดูแล และไม่ปลอดภัย เราคาดหวังว่าจะมีทางออกที่เชื่อมรวมกับไคลเอนต์เมล Evolution ของเราในอนาคต ถ้าคุณไม่ได้ใช้ Evolution อ่านเมล คุณสามารถใช้โปรแกรมทางเลือกที่สาม เช่น mailnotify ได้

2.5 โปรแกรมอรรถประโยชน์

โปรแกรมอรรถประโยชน์ใน GNOME มีการปรับปรุงบางอย่าง เช่น:

2.5.1 เครื่องมือแก้ไขข้อความ

The GNOME text editor can now highlight the current line and when editing program source code, it highlights matching braces. Spell checking is improved too. It now only highlights misspelled words when you have actually finished typing the word, and many extra languages are supported and automatically identified.

หลายคนคงยินดีที่พบว่า เครื่องมือแก้ไขข้อความจะไม่แนะนำให้บันทึกการเปลี่ยนแปลงอีก ถ้าการเปลี่ยนแปลงทั้งหมดได้ถูกเรียกคืนหมดแล้ว และนอกจากนี้ รุ่นนี้ยังโหลดเร็วกว่ารุ่นก่อนๆ อีกด้วย

รูปที่ 17เครื่องมือแก้ไขข้อความ

2.5.2 เครื่องมือจัดการแฟ้มจัดเก็บ

เครื่องมือจัดการแฟ้มจัดเก็บของ GNOME รุ่นนี้ สามารถเปิดแฟ้มจัดเก็บได้หลายชนิดขึ้น รวมถึงแฟ้มจัดเก็บ AR, Debian และ 7-zip และแฟ้มจัดเก็บที่ปกป้องด้วยรหัสผ่านของ RAR และถ้าคุณเลือกใช้การคลิกแบบคลิกเดียวในตัวจัดการแฟ้ม เครื่องมือจัดการแฟ้มจัดเก็บก็จะใช้คลิกเดียวเช่นกัน

รูปที่ 18เครื่องมือจัดการแฟ้มจัดเก็บ

2.5.3 พจนานุกรม

พจนานุกรมของ GNOME รุ่นนี้จะแนะนำคำให้ เมื่อคุณไม่แน่ใจการสะกดคำ นอกจากนี้ คำจำกัดความยังมีลิงก์ไปยังเว็บพจนานุกรมภายนอก และสามารถพิมพ์คำจำกัดความออกทางเครื่องพิมพ์ได้ด้วย

รูปที่ 19พจนานุกรม

2.5.4 เครื่องมือฟอร์แมตแผ่นฟลอปปี้

เครื่องมือฟอร์แมตแผ่นฟลอปปี้ของ GNOME รุ่นนี้ สนับสนุนอุปกรณ์ถอดเสียบ เช่น ไดรฟ์ USB ด้วย โดยอาศัยระบบ HAL มาตรฐานจาก Freedesktop.org

รูปที่ 20เครื่องมือฟอร์แมตแผ่นฟลอปปี้

2.6 การดูแลระบบ

GNOME 2.10 มีความสามารถใหม่เพิ่มเติมสำหรับการดูแลระบบ

2.6.1 เครื่องมือดูแลระบบ

เครื่องมือดูแลระบบจะช่วยคุณตั้งค่านาฬิการะบบของคุณ การเชื่อมต่อเครือข่าย และจัดการผู้ใช้และกลุ่มผู้ใช้ในระบบของคุณ ขณะนี้ เครื่องมือเหล่านี้ยังเหมาะกับการดูแลเครื่องคอมพิวเตอร์เดี่ยวๆ เท่านั้น ยังไม่เหมาะกับการตั้งค่าเครือข่ายคอมพิวเตอร์ขนาดใหญ่

ใน GNOME 2.10 นี้ มีการปรับปรุงพอสมควร รวมถึง

  • ระบบเครือข่าย: สนับสนุนระบบไร้สาย (การตรวจจับ WEP และ ESSID) และการเชื่อมต่อ ISDN ได้ดีขึ้น
  • ผู้ใช้และกลุ่มผู้ใช้: แก้ไขสมาชิกกลุ่มได้ง่ายลง
  • การเปลี่ยนแปลงมีผลทันทีตามความเหมาะสม

รูปที่ 21เครื่องมือตั้งค่านาฬิกา เครือข่าย และผู้ใช้/กลุ่มผู้ใช้

2.6.2 เครื่องมือดูบันทึกปฏิบัติการของระบบ

เครื่องมือดูบันทึกปฏิบัติการระบบรุ่นนี้ ได้เพิ่มความสามารถในการค้นหาอย่างสะดวก และได้ปรับปรุงโหมดติดตามขึ้นอีก นอกจากนี้ ยังสามารถ

  • เปิดบันทึกปฏิบัติการได้ทีละหลายชิ้นในหน้าต่างแยกกัน
  • เปิดบันทึกปฏิบัติการที่อยู่ในรูปแฟ้มจัดเก็บ และบันทึกปฏิบัติการในไดรฟ์เครือข่าย
  • คัดลอกบันทึกปฏิบัติการไปยังคลิปบอร์ด

รูปที่ 22เครื่องมือดูบันทึกปฏิบัติการของระบบ

2.7 เกม

GNOME ช่วยคุณให้บรรลุเป้าหมาย แต่ในบางครั้ง เป้าหมายของคุณคือการพัก ซึ่งก็เป็นเวลาที่เกมของ GNOME จะให้ความสำราญ

2.7.1 Same GNOME

เกม Same GNOME ออกรุ่นใหม่ พร้อมภาพกราฟิกส์สวยขึ้น ขนาดกระดานพิเศษ และความสามารถเรียกคำสั่งคืน ในกรณีที่คุณเกิดเปลี่ยนใจ

รูปที่ 23Same GNOME

2.7.2 Nibbles

คุณจะเห็นปรัชญา "ทำงานได้ทันที" ได้ในเกม Nibbles นี้ ในรุ่นนี้ คุณสามารถมองหาผู้เล่นที่จะเล่นด้วยในเครือข่ายท้องถิ่นได้ โดยใช้เทคนิคที่ไม่อาศัยการตั้งค่า เทคนิคเดียวกับที่ใช้ใน Gnome Meeting

รูปที่ 24ร่วมเล่นเกมในเครือข่าย

2.8 การปรับปรุงแพลตฟอร์ม

แพลตฟอร์มพัฒนา GNOME 2.10 สร้างฐานที่มั่นคงสำหรับนักพัฒนาซอฟต์แวร์ทั่วไป และสำหรับนักพัฒนา GNOME เองด้วย GNOME 2.10 มีการปรับปรุง API เพิ่มเติม โดยยังคงความเข้ากันได้กับรุ่นเก่า และความเสถียรของ API สำหรับรุ่นนี้ เรามี:

  • GTK+ 2.6 มีตัววาดเซลล์ใหม่ ปุ่มใหม่ มี IconView และ about box ใหม่
  • glib 2.6 มี API สำหรับแจงบรรทัดคำสั่งที่ง่ายลง
  • ไบน์ดิงของแพลตฟอร์ม มี Python API สำหรับแพลตฟอร์มพัฒนา GNOME ผ่าน gnome-python เพิ่มเติมจากไบน์ดิงที่มีอยู่ คือ C++, Java, Perl และ Python ผ่านโครงการ gtkmm, java-gnome, gtk2-perl, และ pygtk

3 แนวทางสำหรับผู้ดูแลระบบ ผู้ใช้ และระบบอำนวยการใช้งาน

ด้วยการทำงานของ โครงการเอกสาร GNOME ทำให้ GNOME 2.10 มาพร้อมกับเอกสารที่ชัดเจนและเป็นมืออาชีพ มีการเอาใจใส่ในรายละเอียดโดยใช้ แนวทางรูปแบบเอกสาร ที่สมบูรณ์ที่สุดของโลกซอฟต์แวร์เสรี และโปรแกรมทุกตัวใน GNOME 2.10 มีเอกสารประกอบการใช้งานครบถ้วนเหมือนใน GNOME 2.8

เรียนรู้วิธีใช้ GNOME กับคู่มือผู้ใช้เดสก์ท็อปดูสิ คุณสามารถอ่านคู่มือผู้ใช้ รวมถึงการดูแลระบบและความสามารถเรื่องระบบอำนวยการใช้งานของ GNOME ได้ที่ หน้า GNOME Learn

4 การสนับสนุนนานาภาษา

ด้วยการทำงานของสมาชิกทั่วโลกของ โครงการแปล GNOME ภายใต้การนำของ Christian Rose และ Kjartan Maraas ทำให้ GNOME 2.10 สนับสนุนภาษาต่างๆ ถึง 33 ภาษา (ที่มีการแปลข้อความอย่างน้อย 80 เปอร์เซ็นต์)

ภาษาที่สนับสนุน:

  • แอลเบเนีย (ผู้พูด 5 ล้านคน)
  • โปรตุเกสบราซิล (175 ล้าน)
  • บัลแกเรีย (9 ล้าน)
  • คาตะลาน (7 ล้าน)
  • จีนประยุกต์ (กว่า 1 พันล้าน)
  • จีนดั้งเดิม (40 ล้าน)
  • เช็ก (11 ล้าน)
  • เดนมาร์ก (5.3 ล้าน)
  • ดัทช์ (กว่า 21 ล้าน)
  • อังกฤษ (341 ล้าน)
  • ฟินแลนด์ (กว่า 5 ล้าน)
  • ฝรั่งเศส (กว่า 75 ล้าน)
  • เยอรมัน (100 ล้าน)
  • กรีก (15 ล้าน)
  • คุชราตี (46 ล้าน)
  • ฮินดี (370 ล้าน)
  • ฮังการี (14.5 ล้าน)
  • อิตาเลียน (60 ล้าน)
  • ญี่ปุ่น (กว่า 125 ล้าน)
  • เกาหลี (75 ล้าน)
  • ลิทัวเนีย (4 ล้าน)
  • นอร์เวย์ Bookmal (5 ล้าน)
  • ปัญจาบี (60 ล้าน)
  • โปแลนด์ (44 ล้าน)
  • โปรตุเกส (43 ล้าน)
  • รัสเซีย (170 ล้าน)
  • โรมาเนีย (26 ล้าน)
  • เซอร์เบียน (10 ล้าน)
  • สเปน (กว่า 350 ล้าน)
  • สวีเดน (9 ล้าน)
  • ทมิฬ (61 ล้าน)
  • ตุรกี (150 ล้าน)
  • ยูเครน (50 ล้าน)
  • เวลส์ (575,000)

5 การทำตามมาตรฐาน

GNOME ทำงานร่วมกับกลุ่มอย่าง freedesktop.org อย่างใกล้ชิด การสนับสนุนมาตรฐานเป็นประโยชน์อย่างยิ่งต่อผู้ใช้ GNOME ความเข้ากันได้ช่วยให้ผู้ใช้ใช้งานสะดวกขึ้น โดยทำให้ GNOME, KDE และโปรแกรมอื่นๆ ทำงานร่วมกันได้ง่ายลง และการทำตามมาตรฐานเปิดช่วยทำให้ผู้ใช้มั่นใจได้ ว่าจะไม่ถูกผูกมัดไว้กับรูปแบบข้อมูลเชิงพาณิชย์ต่างๆ

นักพัฒนา GNOME กำลังทำงานอย่างหนักกับสมาชิกอื่นๆ ของชุมชนซอฟต์แวร์เสรีผ่าน Freedesktop.org เพื่อพัฒนามาตรฐานที่จะทำให้เกิดความเข้ากันได้ ตัวอย่างของมาตรฐานเหล่านั้นได้แก่ข้อกำหนด: ฐานข้อมูล MIME, ชุดตกแต่งไอคอน, แฟ้มที่พึ่งใช้, เมนู, รายการเดสก์ท็อป, การจัดการรูปภาพฉบับย่อ, และ ถาดระบบ นอกจากนี้ GNOME ยังสนับสนุน CORBA, XML, Xdnd, EWMH, XEMBED, XSETTINGS, และ XSMP อีกด้วย

6 การติดตั้ง GNOME 2.10

สำหรับ GNOME 2.10 เรามี LiveCD ที่ www.gnome.org ซึ่งช่วยให้คุณทดลองใช้ GNOME บนลินุกซ์ได้โดยไม่ต้องติดตั้งอะไรในฮาร์ดดิสก์ของคุณ อาจเป็นวิธีที่ดีในการมองหาสิ่งใหม่ที่เพิ่มเข้ามาในรุ่นนี้

สำหรับการใช้งานจริง เราขอแนะนำให้คุณติดตั้งแพกเกจที่ปล่อยอย่างเป็นทางการ เช่นจากลินุกซ์ดิสทริบิวชันของคุณ ผู้ผลิตต่างๆ มีแนวโน้มที่จะทำแพกเกจของ GNOME 2.10 อย่างรวดเร็ว และที่จะปล่อยรุ่นใหม่ที่มี GNOME 2.10 ในไม่นานหลังจากนี้

อย่างไรก็ดี ถ้าคุณต้องการคอมไพล์ GNOME จากซอร์สโค้ดเอง เพื่อทดสอบการใช้งานรุ่นล่าสุด และเพื่อให้ข้อมูลป้อนกลับหรือร่วมปรับปรุงให้ดีขึ้น เราขอแนะนำโปรแกรม GARNOME สำหรับคอมไพล์จาก tarball ที่ปล่อยออกมา และ jhbuild สำหรับการคอมไพล์จาก CVS

7 ประเด็นที่ทราบแล้ว

ซอฟต์แวร์ทุกอย่าง เมื่อถึงกำหนดปล่อย จะยังมีข้อบกพร่องบางอย่างที่นักพัฒนาทราบ แต่เลือกที่จะไม่แก้ไขก่อนปล่อย ด้วยเหตุผลต่างๆ ซอฟต์แวร์เสรีก็ไม่ต่างกับซอฟต์แวร์เชิงพาณิชย์ในเรื่องนี้ เว้นแต่เพียงว่า สำหรับซอฟต์แวร์เสรี เราบอกผู้ใช้ของเราให้ทราบถึงปัญหาเหล่านี้ด้วย

เรายังสนับสนุนให้ผู้ใช้รายงานข้อผิดพลาด เพื่อจะได้แก้ไข วิธีที่ดีที่สุดที่จะรายงานข้อผิดพลาดที่พบใน GNOME คือการใช้ การรายงานบั๊กอย่างง่าย ซึ่งจะช่วยคุณผ่านขั้นตอนต่างๆ ที่จำเป็นสำหรับการรายงานข้อผิดพลาดอย่างมีคุณภาพ และช่วยให้มั่นใจว่า กำหนดข้อมูลของข้อผิดพลาดอย่างถูกต้อง หรือถ้าคุณเป็นผู้ใช้ขั้นสูงเกินไปสำหรับสิ่งที่มีคำว่า 'อย่างง่าย' ก็ยังมี แบบฟอร์มรายงานบั๊กตามแบบฉบับ คุณสามารถหารายละเอียดเกี่ยวกับบั๊กที่รายงานแล้วได้ที่ Bugzilla ตัวอย่างของข้อผิดพลาดของ GNOME 2.10 ที่เด่นๆ เช่น:

7.1 รายการประเด็นที่ทราบแล้ว

  • โฟกัสของหน้าต่างใหม่ของ Mozilla/Firefox: เมื่อคุณเปิด Mozilla หรือ Firefox โดยที่มีหน้าต่างอื่นของ Mozilla หรือ Firefox เปิดอยู่ หน้าต่างใหม่อาจไม่ได้รับโฟกัส และอาจอยู่หลังหน้าต่างที่ได้โฟกัสอยู่ เบราว์เซอร์ Epiphany ของ GNOME ที่ใช้ Mozilla เป็นฐาน ไม่มีปัญหานี้ และแฮกเกอร์ของ Mozilla ก็กำลังทำงานเพื่อแก้ปัญหานี้ใน Mozilla และ Firefox รุ่นหน้า
  • อาการค้างขณะเริ่มวาระ: โปรแกรมที่บกพร่องเรื่องการจัดการวาระอาจทำให้การเข้าระบบค้างอยู่ที่ภาพไตเติลราวสองสามนาที วาระปริยายไม่มีการเรียกโปรแกรมดังกล่าว ปัญหานี้จึงเกิดเมื่อคุณบันทึกรายละเอียดของวาระไว้ขณะออกจากระบบเท่านั้น ถ้าคุณพบปัญหานี้ กรุณารอให้การเข้าระบบเสร็จสมบูรณ์ แล้วปิดโปรแกรมดังกล่าวก่อนบันทึกรายละเอียดของวาระอีกครั้ง

8 สู่ GNOME 2.12 และถัดๆ ไป

GNOME ทำงานโดยอาศัยปรัชญาการปล่อยตามกำหนดเวลา ซึ่งเป็นความพยายามที่จะเผยแพร่งานของนักพัฒนาของเราอย่างต่อเนื่องและรวดเร็วที่สุดเท่าที่ทำได้ หกเดือนหลังจาก GNOME 2.10 เราคาดว่า GNOME 2.12 จะมีระบบสื่อผสมและการสื่อสารที่เชื่อมรวมกันมากขึ้น และความคืบหน้าในระบบอำนวยการใช้งาน ความสะดวกใช้ และการสนับสนุนภาษานานาชาติ กรุณาอ่าน แผนงาน GNOME เพิ่มเติม

9 การมีส่วนร่วม

แก่นแท้ของความสำเร็จของ GNOME ก็คือการมีอาสาสมัครจำนวนมาก ทั้งผู้ใช้และนักพัฒนา

ในฐานะผู้ใช้ การมีส่วนร่วมของคุณอาจจะแค่การรายงานข้อผิดพลาดอย่างมีคุณภาพ คุณสามารถรายงานข้อผิดพลาดใน Bugzilla ของเรา โดยใช้ แบบฟอร์มช่วยรายงานบั๊กอย่างง่าย หรือถ้าคุณอยากช่วยมากกว่านั้น คุณสามารถมาร่วมใน bug-squad อันคึกคักของเราได้

สำหรับนักพัฒนา ยังมีงานที่น่าตื่นเต้นที่รออยู่ในกลุ่มนักพัฒนาที่คึกคักของเรา กล่าวคือ ระบบอำนวยการใช้งาน การเขียนเอกสาร ประเด็นเรื่องความสะดวกใช้ งานแปล เว็บ การทดสอบ งานกราฟิกส์ และการพัฒนาเดสก์ท็อปและแพลตฟอร์ม กรุณาอ่าน แนวทางช่วยคุณเริ่มงาน

การช่วยพัฒนา GNOME อาจเป็นประสบการณ์ที่น่าพึงใจอย่างไม่น่าเชื่อ คุณจะได้พบกับผู้คนหลากหลายที่ทำงานด้วยแรงบันดาลใจ มีความชำนาญ และพร้อมจะช่วยเหลือ ซึ่งต่างก็ทำงานเพื่อมุ่งสู่เป้าหมายเดียวกัน มาร่วมกับเราสิ จะได้รู้ว่าคุณสามารถสร้างความเปลี่ยนแปลงอะไรบ้าง

ภาคผนวก 1. เครดิต

บันทึกประจำรุ่นนี้รวบรวมโดย Murray Cumming, Davyd Madeley, และชุมชน GNOME