บันทึกประจำรุ่น GNOME 2.16

1 เตรียมพร้อมสู่ยุคอาหารตา

ในขณะที่รุ่น 2.16 ยังคงมุ่งหน้าต่อเติม GNOME ต่อไปด้วยความสามารถต่างๆ ที่เป็นประโยชน์ เพิ่มความสะดวกใช้ ลดตำหนิ แต่ก็ยังได้เริ่มก้าวเข้าสู่ยุคก้าวหน้าสำหรับอาหารตา เช่น หน้าต่างที่อ่อนหยุ่น หายตัว จางหาย หดตัว หรือระเบิดออก ซึ่งเป็นลูกเล่นที่เป็นจริงขึ้นมาได้ ด้วยพัฒนาการของฮาร์ดแวร์ทางด้านกราฟิกส์

ความเปลี่ยนแปลงดังกล่าวบางส่วนยังคงอยู่ระหว่างการพัฒนา และไม่ได้เปิดใช้โดยปริยาย คุณจึงต้องปรับแต่งเป็นพิเศษเพื่อจะใช้งาน อย่างไรก็ตาม ความเปลี่ยนแปลงเหล่านี้ได้เริ่มเผยให้เห็นยุคที่กำลังจะมาถึง

เชิญทัศนาบางส่วนของอนาคตกับเรา!

1.1 ลูกเล่นสามมิติขั้นสูง

Metacity โปรแกรมจัดการหน้าต่างปริยายของ GNOME ได้เริ่มเข้าสู่โลกของเดสก์ท็อปที่มีการเร่งความเร็วสามมิติ ส่วนขยายหลายอย่างในกลไกการประกอบภาพ (composite) ทำให้หน้าต่างของคุณอ่อนหยุ่น หดตัว ระเบิดออก จางเข้า-จางออก กระเด้งเมื่อได้โฟกัส และแสดงลูกเล่นต่างๆ ที่น่าสนใจ แปลกตา หรือขบขัน เช่น แยกความโปร่งใสของหน้าต่างชนิดต่างๆ อย่างเมนู กล่องโต้ตอบ และหน้าต่างหลัก เป็นต้น

ลูกเล่น composite ดังกล่าว ยังไม่เปิดใช้โดยปริยาย แต่จะใช้ได้เมื่อคอมไพล์ Metacity ด้วยตัวเลือกพิเศษ --enable-compositor เท่านั้น และความสามารถเรื่องการ composite ดังกล่าว ยังต้องอาศัยส่วนขยาย GLX_texture_from_pixmap ซึ่งมีให้สำหรับผู้ใช้ชิปเซ็ต Intel i830 ถึง i945 และ ATI Radeon 7000 ถึง 9250 เท่านั้นในขณะนี้

“เป็นเรื่องสำคัญที่ควรสังเกต” Vincent Untz สมาชิกของทีมออกรุ่น GNOME กล่าว “ว่านี่เป็นงานที่ยังอยู่ระหว่างดำเนินการ และจะมีเพิ่มเติมมาอีกใน 2.18”

เมื่อได้คอมไพล์ Metacity ด้วยตัวเลือกที่ถูกต้อง ลูกเล่นดังกล่าวจะสามารถเปิดปิดได้โดยไม่ต้องเริ่มเปิดเครื่องหรือเข้าระบบใหม่ และโปรแกรมต่างๆ จะสามารถใช้ประโยชน์จากลูกเล่นต่างๆ ได้ เช่น เทอร์มินัลของ GNOME จะสามารถโปร่งใสได้อย่างแท้จริง

1.2 ชุดไอคอนที่สะอาดขึ้น, ไคโร, และแวนด้า

GNOME 2.16 ไม่ได้มีแต่อาหารตาสำหรับนักทดสอบที่มีความสนใจเป็นพิเศษเท่านั้น แต่ยังมีการปรับปรุงหลายอย่างที่เห็นได้ชัดทันที คือชุดไอคอนที่ปรับตามแนวสไตล์ของ Tango, การแสดงเหตุการณ์ต่างๆ แบบใหม่ในมอดูลปฏิทินของ Evolution โปรแกรมอ่านเมลของ GNOME, และการปรับโฉม (เสียที) ให้กับแวนด้า ปลาหมอดูของ GNOME

ชุดไอคอนใหม่ของ GNOME 2.16 ปรับตามแนวทางของงานศิลป์ที่เสนอโดยโครงการ Tango ซึ่งทำให้ผู้ใช้ได้พบกับส่วนติดต่อผู้ใช้ที่สอดคล้องกับซอฟต์แวร์เสรีและโอเพนซอร์สทั่วไปยิ่งขึ้น และด้วยการทำตาม ข้อกำหนดการตั้งชื่อไอคอน ของ Freedesktop ทำให้ชุดไอคอนของ GNOME สามารถใช้ได้กับโปรแกรมที่เขียนเพื่อใช้กับเดสก์ท็อปยอดนิยมอื่นๆ เช่น KDE หรือ XFce ด้วย

รูปที่ 1ชุดไอคอนปรับปรุงใหม่ของ GNOME

นอกจากนี้ ยังมีการปรับชุดไอคอนโดยทั่วไป กล่าวคือ ไอคอนของโปรแกรมต่างๆ ได้เข้าไปอยู่ในตัวโปรแกรมเอง ทำให้สะดวกยิ่งขึ้นต่อการใช้ในเดสก์ท็อปอื่นที่ไม่ใช่ GNOME ไอคอนจำนวนมากสามารถย่อขยายได้ ซึ่งหมายความว่า คุณสามารถปรับขนาดของไอคอนบนจอได้ โดยที่ยังได้ภาพที่คมชัดอยู่เหมือนเดิม! และชุดตกแต่งปริยายของ GNOME ก็ได้รับการปรับใหม่ทั้งหมดด้วย

ยังมีอาหารตาที่พบได้ในมอดูลปฏิทินของ Evolution ซึ่งได้ใช้ Cairo แสดงข้อมูลเหตุการณ์ที่น่าดึงดูดยิ่งขึ้น โดยมีส่วนหัวที่แสดงเวลาเริ่ม และถ้าปรับขนาดไอคอนของเหตุการณ์ ก็จะแสดงเวลาสิ้นสุดด้วย เหตุการณ์ที่เลือกจะแสดงโดยมีเงาบนพื้นหลัง Cairo เป็นไลบรารีกราฟิกส์ 2 มิติ ที่ออกแบบเพื่อสนับสนุนเทคนิคกราฟิกส์สมัยใหม่ เช่น การลากเส้น การกลืนสี และการลบรอยหยัก

ปลาหมอดูตัวน้อยๆ น่ารักของ GNOME ที่ชื่อแวนด้า ก็ได้รับการปรับโฉมเสียใหม่เช่นกัน ด้วยความที่เป็นคู่หูเก่าแก่ของ GNOME มาตั้งแต่แรกเริ่ม ทำให้หลายคนคิดว่านี่อาจเป็นการเปลี่ยนแปลงที่สำคัญที่สุดอย่างหนึ่งของ GNOME 2.16 ก็เป็นได้ ;-)

2 ความสามารถเพิ่มเติม

ถ้าคุณกำลังใช้แล็ปท็อป หรือมีปัญหาในการหาพื้นที่ว่างในฮาร์ดดิสก์ของคุณ หรือต้องการปรับแต่งเมนูหลัก หรือรู้สึกลำบากกับการจัดการข้อมูลส่วนตัว คุณจะมีความสุขกับการปรับรุ่นเป็น GNOME 2.16

2.1 การใช้งานแล็ปท็อปที่ยาวนานขึ้น

ถ้าคุณเดินทางไปพร้อมกับแล็ปท็อปบ่อยๆ การสนับสนุนการจัดการพลังงานที่ผนวกรวมใน GNOME 2.16 อาจช่วยคุณได้มาก โดยจะช่วยให้คุณจัดการแบตเตอรี่, UPS และอุปกรณ์ไร้สายข้างเคียงได้ และยังมีกราฟแสดงปริมาณการใช้พลังงานให้ดูอีกด้วย

รูปที่ 2

การจัดการการใช้พลังงาน สามารถทำได้ง่ายผ่านไอคอนบนพาเนล กล่องโต้ตอบปรับแต่งอย่างง่าย จะช่วยให้คุณปรับการใช้พลังงานไปตามสภาวะการใช้คอมพิวเตอร์ตามปกติของคุณได้

รูปที่ 3

ด้วยการเปิด hook ผ่าน method มาตรฐานของ DBUS ทำให้โปรแกรมอื่นๆ สามารถโต้ตอบกับกระบวนการประหยัดพลังงานได้ ซึ่งช่วยลดความจำเป็นในการดูแลการใช้พลังงานของโปรแกรมเหล่านั้นด้วยตนเอง ตัวอย่างเช่น โปรแกรมอย่าง Nautilus สามารถระงับการพักเครื่องอัตโนมัติขณะคัดลอกแฟ้มใหญ่ๆ ได้ หรือบริการอย่าง beagled สามารถใช้รูปแบบการทำดัชนีแบบช้าขณะที่ใช้ไฟจากแบตเตอรี่ได้

2.2 การจดบันทึกที่สะดวกขึ้น

หมายเลขโทรศัพท์ แวบความคิด การนัดสังสรรค์กับเพื่อน.. ชีวิตของคุณเหมือนกระแสที่ไม่รู้จบของข้อมูลชิ้นเล็กชิ้นน้อย การติดตามข้อมูลดังกล่าวทั้งหมดอาจเป็นเรื่องยากลำบากและน่าอึดอัด แต่ GNOME 2.16 ทำให้เรื่องง่ายเข้า ด้วยโปรแกรมจดบันทึกตัวใหม่ที่ชื่อ Tomboy

รูปที่ 4Tomboy โปรแกรมจดบันทึก

การจดบันทึกทำได้ง่ายดาย เพียงคลิกที่ไอคอนบนพาเนลแล้วเลือก 'บันทึกใหม่' เท่านั้น แต่ประโยชน์หลักของ Tomboy อยู่ที่ความสามารถในการเชื่อมโยงบันทึกและความคิดต่างๆ เข้าด้วยกัน โดยเพียงแต่เลือกวลีที่ต้องการ แล้วคลิกที่ปุ่มลิงก์ ก็จะสร้างบันทึกใหม่ขึ้นมา ด้วยวิธีนี้ คุณสามารถจัดโครงสร้างความคิดของคุณในแบบที่คุณเห็นว่าเหมาะสม และลิงก์ระหว่างความคิดของคุณก็จะยังไม่ขาดตอน แม้เมื่อคุณเปลี่ยนชื่อบันทึกและจัดโครงสร้างใหม่

2.3 การแก้ไขเมนูฉบับปรับปรุง

การแก้ไขเมนูในรุ่นนี้ง่ายขึ้นกว่าเดิมอีก เครื่องมือแก้ไขเมนูแบบเดิม ได้ถูกแทนที่ด้วยตัวใหม่ คือ Alacarte ซึ่งผู้ใช้อูบุนตูคุ้นเคยดี ไม่ว่าคุณจะต้องการเพิ่มเมนูใหม่ รายการใหม่ หรือเส้นแบ่ง Alacarte ช่วยให้การแก้ไขและปรับเมนูให้เป็นแบบที่คุณชอบ กลายเป็นเรื่องง่าย

รูปที่ 5หน้าต่างหลักของ Alacarte เครื่องมือแก้ไขเมนู

2.4 การควบคุมการใช้เนื้อที่ดิสก์อย่างละเอียด

ถ้าคุณเป็นคนหนึ่งที่ดูจะต้องฟันฝ่ากับปัญหาเนื้อที่ดิสก์ไม่พออยู่เสมอๆ คุณจะพอใจที่ได้ทราบว่า GNOME 2.16 มีเครื่องมือใหม่ที่จะแสดงภาพรวมของการใช้เนื้อที่ฮาร์ดดิสก์ของคุณได้ดีขึ้น ด้วย Baobab คุณสามารถวิเคราะห์การใช้เนื้อที่ดิสก์ และค้นหาและลบแฟ้มที่กินเนื้อที่ โดยเพียงแต่สั่งตรวจข้อมูลในไดเรกทอรีในเครื่องหรือที่เครื่องอื่น หรือโฟลเดอร์ที่ต้องการ หรือระบบแฟ้มทั้งหมด Baobab ก็จะแสดงแผนภาพแสดงขนาดของไดเรกทอรีทั้งหมดที่พบ

รูปที่ 6Baobab เครื่องมือวิเคราะห์การใช้ดิสก์

2.5 โปรแกรมอ่านหน้าจอตัวใหม่

ผู้ใช้ที่บกพร่องทางสายตา จะชื่นชอบโปรแกรมอ่านหน้าจอตัวใหม่ของ GNOME คือ Orca ด้วยการใช้อินเทอร์เฟซผู้ให้บริการเทคโนโลยีสิ่งอำนวยความสะดวก (Assistive Technology Service Provider Interface หรือ AT-SPI) Orca จะแสดงเนื้อหาที่อยู่บนหน้าจอโดยใช้โปรแกรมสังเคราะห์เสียง, อักษรเบรลล์ และแว่นขยายประกอบกัน Orca จึงสนับสนุนโปรแกรมและทูลคิตทุกตัวที่สนับสนุน AT-SPI

2.6 Totem ยกระดับการท่องเว็บสื่อผสม

Totem

Totem มีความสามารถใหม่ที่น่าตื่นตาตื่นใจ และการแก้ปัญหาที่สำคัญในปลั๊กอินสำหรับเบราว์เซอร์ ทำให้ Totem เมื่อใช้ร่วมกับเบราว์เซอร์แล้ว ช่วยให้คุณเพลิดเพลินกับการท่องเว็บ ความสามารถที่ควรกล่าวถึงคือ การสามารถทำงานกับหน้าเว็บที่ฝัง Real หรือ Windows media player แม้หน้าเว็บดังกล่าวจะตรวจหา Windows Media หรือ Real Player อย่างเจาะจงก็ตาม และแม้แต่ Javascript ที่อยู่รอบๆ ก็จะยังทำงานได้เป็นปกติอีกด้วย นอกจากนี้ Totem ยังช่วยให้คุณฟังเพลงแบ็กกราวด์ของหน้าเว็บได้ด้วย

2.7 ความเปลี่ยนแปลงเล็กๆ น้อยๆ ที่เป็นประโยชน์

  • คุณสามารถตรวจสอบตัวสะกดในข้อความที่ป้อนในเว็บเบราว์เซอร์ Epiphany ได้
  • คุณสามารถสลับไปมาระหว่างหน้าต่างของโปรแกรมเดียวกันที่เปิดอยู่ได้ โดยใช้ปุ่มลัด Alt+F6 และแน่นอนว่าคุณยังคงสามารถใช้ปุ่มลัด Alt+Tab เพื่อสลับหน้าต่างภายในพื้นที่ทำงานได้
  • คุณสามารถย้ายโปรแกรมข้ามพื้นที่ทำงานได้ โดยลากไอคอนบนแถบงานไปยังพื้นที่ทำงานที่ต้องการ
  • คุณสามารถมองหาแฟ้มที่มีการป้องกันด้วยรหัสผ่านในแฟ้มจัดเก็บได้อย่างง่ายดาย เนื่องจากตราใหม่ที่ใช้ทำเครื่องหมายแฟ้มดังกล่าว
  • คุณสามารถดูตัวอย่างของโปรแกรมรักษาหน้าจอแบบเต็มจอได้
  • คุณสามารถเขียนแผ่นดีวีดีด้วย Nautilus CD Burner ได้โดยตรง โดยไม่จำเป็นต้องสร้างอิมเมจก่อน
  • คุณสามารถใช้บันทึกช่วยจำจากบัญชี GroupWise ที่มีอยู่ได้ โดยใช้ Evolution

3 การปรับปรุงความสะดวกใช้

ความง่ายในการใช้งาน เป็นเรื่องสำคัญที่สุดเรื่องหนึ่งของ GNOME และผู้ร่วมสมทบทั้งหลาย ก็มุ่งที่จะทำให้แน่ใจว่า GNOME จะยึดมั่นในมาตรฐานสูงสุดของความสะดวกใช้ของซอฟต์แวร์ GNOME 2.16 มีการเปลี่ยนแปลงที่ทำให้การกำหนดสิทธิ์ของแฟ้ม การรายงานบั๊ก การใช้แอพเพล็ตเดสก์บาร์ และการสร้างปุ่มเรียกโปรแกรม ทำได้ง่ายกว่าเดิม

3.1 กำหนดสิทธิ์แฟ้มอย่างง่ายดาย

บางครั้ง ก็มีความจำเป็นต้องเปลี่ยนการกำหนดสิทธิ์ของทุกสิ่งทุกอย่างที่อยู่ในโฟลเดอร์ โปรแกรมจัดการแฟ้ม Nautilus รุ่นใหม่ สนับสนุนการกระทำดังกล่าว ด้วยการคลิกขวาที่โฟลเดอร์แล้วเลือก คุณสมบัติ ▸ สิทธิ์

รูปที่ 7กล่องโต้ตอบกำหนดสิทธิ์แบบใหม่ใน Nautilus

GNOME 2.16 ยังได้เพิ่มการควบคุมสิทธิ์ของแฟ้มอย่างละเอียด ด้วยการสนับสนุน access control list และแอตทริบิวต์ของ Security-enhanced Linux (SELinux)

3.2 การรายงานบั๊กที่ง่ายกว่าเดิม

เพื่อให้แน่ใจว่าบั๊กของ GNOME จะได้รับการแก้ไขอย่างรวดเร็ว นักพัฒนาจะต้องอาศัยการรายงานบั๊กจากผู้ใช้ เพื่อให้การเก็บบันทึกการรายงานบั๊กง่ายขึ้น โปรแกรม Bug-Buddy จะถูกเรียกโดยอัตโนมัติเมื่อโปรแกรมใน GNOME พัง และเพื่อประหยัดเวลาของผู้ใช้ รุ่นใหม่นี้จะถามคำถามน้อยลง และแสดงข้อมูลทุกอย่างในหน้าต่างเดียว

รูปที่ 8ส่วนติดต่อของ Bug-buddy ที่ง่ายกว่าเดิม

3.3 การปรับปรุงเดสก์บาร์

เดสก์บาร์ เครื่องมือที่ทรงพลังสำหรับค้นหาแฟ้มและเว็บ ทำงานได้เร็วขึ้นอีก และกินเนื้อที่บนหน้าจอน้อยลงในรุ่นนี้ คุณสามารถกด Alt+F3 (หรือคลิกที่ไอคอนของเดสก์บาร์) เพื่อป้อนคำค้นโดยตรงได้ ทำให้คุณไม่ต้องละมือจากแป้นพิมพ์

รูปที่ 9ส่วนติดต่อของเดสก์บาร์ที่ปรับใหม่

3.4 เรียกโปรแกรมง่ายกว่าเดิม

ปุ่มเรียกโปรแกรมเป็นเครื่องมือที่ยืดหยุ่นในการเปิดโปรแกรมที่ต้องการ ในการเรียกคำสั่ง หรือเปิดโฟลเดอร์หรือหน้าเว็บ GNOME 2.16 ได้ปรับขั้นตอนการสร้างปุ่มเรียกโปรแกรมกำหนดเอง ด้วยกล่องโต้ตอบที่ออกแบบใหม่ ใช้ง่ายกว่าเดิม

รูปที่ 10

4 การสะสางโค้ดและการปรับปรุงแบ็กเอนด์

4.1 ปรับรุ่นเป็น GTK+ 2.10

GNOME 2.16 จะใช้ GTK+ 2.10 เป็นฐาน ซึ่งจะได้การปรับปรุงมากมายที่ได้มาจาก โครงการ Ridley ซึ่งเป็นความพยายามที่จะรวมไลบรารีของ GNOME จำนวนหนึ่งเข้าใน GTK+

ประโยชน์อย่างแรกที่ผู้ใช้ GNOME จะได้รับก็คือ ความสามารถเกี่ยวกับการพิมพ์ของ GTK+ 2.10 ซึ่งมี API ระดับบนที่ไม่ขึ้นกับแพลตฟอร์ม เรียกว่า GtkPrintOperation ซึ่งมีกล่องโต้ตอบสั่งพิมพ์แบบใหม่ นอกจากนี้ ยังมี API ระดับล่างที่เจาะจงสำหรับยูนิกซ์ให้ด้วย ซึ่งขณะนี้สนับสนุนการพิมพ์ด้วย CUPS และ lpr

รูปที่ 11กล่องโต้ตอบสั่งพิมพ์ปรับปรุงใหม่

โปรแกรมของ GNOME หลายตัวได้ย้ายมาใช้ส่วนสนับสนุนการพิมพ์ตัวใหม่นี้แล้ว เช่น โปรแกรมอ่านเอกสาร Evince, เว็บเบราว์เซอร์ Epiphany, และโปรแกรมอ่านคู่มือวิธีใช้ Yelp

การย้ายครั้งนี้ เป็นจุดเริ่มต้นของการปลดระวางไลบรารีเดิมที่เคยใช้ คือ libgnomeprint และ libgnomeprintui เราขอสนับสนุนให้โครงการภายนอก GNOME ใช้ฟังก์ชันใหม่ของ GTK+ 2.10 นี้แทน

การปรับปรุงที่สำคัญอีกอย่างหนึ่งที่มาพร้อมกับ GTK+ 2.10 คือ API ใหม่ GtkRecent ซึ่งจัดการรายการของแฟ้มและเอกสารที่เปิดล่าสุด โปรแกรม GNOME ที่ใช้ฟังก์ชันใหม่นี้ รวมถึงโปรแกรมจัดการแฟ้ม (Nautilus), โปรแกรมอ่านเอกสาร (Evince) และเครื่องมือแก้ไขข้อความ (Gedit)

กล่องโต้ตอบเลือกแฟ้มก็ได้รับการปรับปรุงด้วย โดยช่องป้อนตำแหน่งแฟ้ม (ซึ่งก่อนหน้านี้จะเปิดได้ด้วย Ctrl+L) ได้ถูกรวมเข้าในกล่องโต้ตอบแล้ว และกล่องโต้ตอบทั้งหมดก็ยังมีการตอบสนองต่อคำสั่ง แม้ขณะทำงานเกี่ยวกับแฟ้มที่กินเวลานาน

รูปที่ 12ช่องป้อนตำแหน่งแฟ้มในกล่องโต้ตอบเลือกแฟ้ม

GTK+ 2.10 มีโหมด gtk-touchscreen-mode ซึ่งมีผลต่อการเปลี่ยนแปลงต่างๆ เพื่อให้ GTK+ ทำงานได้ดียิ่งขึ้นกับ touchscreen ซึ่งใช้กันทั่วไปในอุปกรณ์พกพาและฝังตัว

ยังมีการปรับปรุงอื่นๆ ที่มีใน GTK+ 2.10 ที่มีการใช้งานไปทั่วทั้งเดสก์ท็อป เช่น วิดเจ็ตใหม่สำหรับแสดงไฮเพอร์ลิงก์ที่คลิกได้ วิดเจ็ตสำหรับสร้างเครื่องมือวิเศษสำหรับทำงานเป็นขั้นๆ และการสนับสนุนการลากวางที่ดีขึ้นในสมุดบันทึก ซึ่งช่วยให้สามารถเปลี่ยนลำดับของแท็บ ย้ายแท็บข้ามสมุดบันทึก หรือแยกออกมาเป็นหน้าต่างโดยลากไปวางที่พื้นโต๊ะได้

4.2 GTK และ GNOME เติมชาร์ป

GNOME 2.16 มาพร้อมกับไบน์ดิงของ GTK+ และไลบรารีของ GNOME สำหรับแฟนๆ ของภาษา C# (ซีชาร์ป) ด้วย ซึ่งหมายความว่า กรอบงาน Mono ได้กลายเป็นส่วนหนึ่งของไบน์ดิงของ GNOME ด้วย

นอกจากนี้ ซอฟต์แวร์ที่เขียนด้วย C# ก็ยังสามารถได้รับการเสนอให้เป็นมอดูลใหม่สำหรับ GNOME รุ่นต่อๆ ไปด้วย อย่างไรก็ตาม มอดูลต่างๆ ที่มีอยู่ของ GNOME ยังต้องผ่านกระบวนการเสนออีกที ถ้ามอดูลดังกล่าวใช้ GTK# และ/หรือ Mono เป็นฐาน

4.3 แบ็กเอนด์ใหม่ของ Bug-buddy

Bug-buddy เครื่องมือรายงานบั๊กของ GNOME รุ่นนี้ เริ่มใช้โพรโทคอล XML-RPC และไม่ต้องการโปรแกรม sendmail ในระบบอีกต่อไป ผลก็คือ โครงการต่างๆ ที่ใช้ Bug-buddy จะต้องมีข้อมูลที่ถูกต้องในแฟ้ม .desktop ของโปรแกรมด้วย

วิธีเดิมในการรายงานบั๊ก (ที่ใช้ sendmail) จะยังคงได้รับการสนับสนุนต่อไปเป็นเวลาหนึ่งปี หลังจากนั้น ผู้ใช้ที่ใช้ Bug-buddy รุ่นเก่าจะไม่สามารถรายงานบั๊กได้อีกต่อไป

4.4 การสนับสนุนยูนิโค้ด 5.0

GNOME 2.16 จะเป็นเดสก์ท็อปรุ่นแรกของโลกที่สนับสนุนฐานข้อมูลอักขระยูนิโค้ด (Unicode Character Database หรือ UCD) รุ่น 5.0 ซึ่งได้กำหนดรหัสอักขระกว่า 99,000 ตัวสำหรับภาษาต่างๆ ในโลกนี้ การปรับปรุงดังกล่าวได้ฝังอยู่ในไลบรารี GLib และ Pango ของ GNOME จึงสามารถเรียกใช้ได้โดยโครงการซอฟต์แวร์เสรีและโอเพนซอร์สต่างๆ ที่ใช้ไลบรารีเหล่านี้

4.5 รายการตัดออกและบันทึกอื่นๆ

  • เนื่องจากขาดการดูแล ชุดตกแต่ง กาละแม, ฝันถึงทะเล, ง่ายๆ, ฟ้าหม่น, และ ดั้งเดิม ได้ถูกตัดออกไป และในทำนองเดียวกัน กลไกชุดตกแต่ง Lighthouseblue และ Metal ก็ถูกตัดออกไปด้วย
  • โปรแกรมอ่านหน้าจอ Gnopernicus ได้ถูกแทนที่โดย Orca แล้ว

5 การสนับสนุนนานาภาษา

ด้วยการทำงานของสมาชิกทั่วโลกของ โครงการแปล GNOME ภายใต้การนำของ Christian Rose และ Danilo Šegan ทำให้ GNOME 2.16 สนับสนุนภาษาต่างๆ ถึง 54 ภาษา (ที่มีการแปลข้อความอย่างน้อย 80 เปอร์เซ็นต์)

ภาษาที่สนับสนุน:

  • แอลเบเนีย
  • แบ็ซค์
  • เบ็งกาลี
  • โปรตุเกสบราซิล
  • บัลแกเรีย
  • คาตะลาน
  • จีน (ฮ่องกง)
  • จีน (ไต้หวัน)
  • จีนประยุกต์
  • เช็ก
  • เดนมาร์ก
  • ดัชต์
  • ภูฏาน
  • อังกฤษ
  • เอสโตเนีย
  • ฟินแลนด์
  • ฝรั่งเศส
  • กาลิเชียน
  • เยอรมัน
  • กรีก
  • คุชราตี
  • ฮิบรู
  • ฮินดี
  • ฮังการี
  • เบ็งกาลีอินเดีย
  • อินโดนีเซีย
  • อิตาลี
  • ญี่ปุ่น
  • เกาหลี
  • ลัตเวีย
  • ลิทัวเนีย
  • มาซิโดเนีย
  • มะละยาลัม
  • เนปาล
  • นอร์เวย์ Bookmal
  • นอร์เวย์ Nynorsk
  • โอริยา
  • เปอร์เซีย
  • โปแลนด์
  • โปรตุเกส
  • ปัญจาบี
  • โรมาเนีย
  • รัสเซีย
  • เซอร์เบีย
  • สโลวัก
  • สโลวีเนีย
  • สเปน
  • สวีเดน
  • ทมิฬ
  • ไทย
  • ตุรกี
  • ยูเครน
  • เวียดนาม
  • เวลส์

สังเกตว่า ภูฏาน, ฮิบรู, เบ็งกาลีอินเดีย, ลัตเวีย, มะละยาลัม, นอร์เวย์ Nynorsk, โอริยา, สโลวีเนีย และทมิฬ เป็นภาษาใหม่ที่ได้รับการสนับสนุนใน GNOME 2.16 จากการทำงานอย่างหนักของนักแปล และที่ควรกล่าวถึงคือ GNOME 2.16 สนับสนุนภาษาอังกฤษแบบบริติช และภาษาอังกฤษแบบแคนาดาด้วย

มีอีกหลายภาษาที่สนับสนุนเพียงบางส่วน โดยมีการแปลข้อความเกินครึ่งหนึ่ง

6 มุ่งสู่ GNOME 2.18

อย่างที่เคยเป็นมา การพัฒนาไม่ได้หยุดอยู่เพียงแค่ GNOME 2.16 อีกหกเดือนหลังจากวันที่ GNOME 2.16 ออก GNOME 2.18 ก็จะออกตามมา โดยพัฒนาต่อจากฐานอันมหัศจรรย์ที่ได้สร้างไว้ในรุ่นก่อน

สิ่งที่จะมาใน GNOME 2.18 รวมถึง:

  • ปรับรุ่น bugzilla.gnome.org เป็น Bugzilla 3.0
  • ปรับ Bug-Buddy ให้ทำงานร่วมกับเครื่องมือติดตามบั๊กต่างๆ ใน Bugzilla 3.0+ (ถ้าเป็นไปได้)

แผนงานพัฒนาอื่นๆ ของ GNOME 2.18 จะปรากฏเร็วๆ นี้ เมื่อนักพัฒนาเริ่มทำงานกัน ติดตามรายละเอียดได้จากหน้า งานพัฒนา

6.1 การมีส่วนร่วม

การช่วยเหลือ GNOME เป็นประสบการณ์ที่ได้รับผลตอบแทนคุ้มค่า น่าพึงใจ คุณจะได้ร่วมกับผู้คนที่กระตือรือร้นและอุทิศตนจากทุกรูปแบบของชีวิต และจากทั่วทุกมุมโลก ผู้ร่วมสมทบงานกับ GNOME ที่มีฝีมือและเปี่ยมด้วยแรงบันดาลใจ อาจได้พบประตูและโอกาสใหม่ ที่เปิดสู่การเป็นที่ยอมรับ การได้กล่าวปราศรัยในที่ต่างๆ และการจ้างงานราคางาม

การมีส่วนร่วมของคุณอาจจะแค่การรายงานข้อผิดพลาดอย่างมีคุณภาพ ในระบบติดตามบั๊กที่เรียกว่า Bugzilla ของเรา แบบฟอร์มช่วยรายงานบั๊กอย่างง่าย จะช่วยพาคุณผ่านขั้นตอนการรายงานบั๊กแรกๆ กับเราได้ นอกจากนี้ คุณอาจเข้าร่วมเป็น พันธมิตร GNOME เพื่อช่วยขับดันให้เราก้าวไปข้างหน้า

ยังมีความคืบหน้าที่น่าตื่นเต้นเกิดขึ้นทุกวันในกลุ่มนักพัฒนาที่คึกคักของเรา กล่าวคือ เทคโนโลยีสิ่งอำนวยความสะดวก การเขียนเอกสาร ประเด็นเรื่องความสะดวกใช้ งานแปล เว็บ การทดสอบ งานกราฟิกส์ งานปรับปรุงประสิทธิภาพ และการพัฒนาเดสก์ท็อปและแพลตฟอร์ม

มาร่วมกับเราสิ จะได้รู้ว่าคุณสามารถสร้างความเปลี่ยนแปลงอะไรบ้าง

ภาคผนวก 1. ผู้จัดทำ

บันทึกประจำรุ่นนี้รวบรวมโดย Vencent Untz, Quim Gil, SegPhault, John Williams และ Brent Smith ด้วยความช่วยเหลือจากชุมชน GNOME ในนามของชุมชน GNOME เราขอขอบคุณด้วยความซาบซึ้ง ต่อนักพัฒนาและผู้ร่วมสมทบทุกคน ที่ทำให้ GNOME รุ่นนี้เกิดขึ้นได้

บันทึกนี้ สามารถแปลเป็นภาษาใดๆ ได้อย่างเสรี หากคุณประสงค์จะแปลเป็นภาษาของคุณ กรุณาติดต่อ โครงการแปล GNOME